วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ท่านทั้งหลายจะปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าและเงินทองพร้อมกันไม่ได้

การมีเงินมากไม่ใช่ปัญหา...
แต่การโลภหลงเงินต่างหากที่เป็นปัญหา

จงบอกตัวเองเสมอว่า...
คนเรานั้นเข้ามาในโลกตัวเปล่า
ก็จะต้องกลับไปตัวเปล่าด้วยเช่นกัน

สิ่งใด ๆ ที่เราทำในโลกแม้จะมากขนาดไหน
แต่ก็เอาไปไม่ได้เลยแม้แต่เศษเสี้ยวเดียว

เตือนตัวเองไว้เสมอว่า...
ไม่ใช่คนร่ำรวยทุกคนที่จะมีความสุข
สันติสุขที่พระเยซูให้ย่อมยิ่งใหญ่กว่า...
ความสุขที่คุณจะสามารถหาได้จากโลกนี้

ใจที่รู้จักพอ มือที่รู้จักแจกจ่าย...
ทำให้ความสุขถูกแบ่งปันกันไปมา
ตรงกันข้ามกับการกักเก็บไว้คนเดียว

ชีวิตในโลกนี้...สั้นนัก
อย่าจมปลักแต่กับการสะสมทรัพย์ในโลก
จนลืมที่จะสะสมทรัพย์เอาไว้ในสวรรค์
      //////////////////////////////////////
อย่าส่ำสมทรัพย์สมบัติไว้ สำหรับตัวในโลก…
แต่จงส่ำสมทรัพย์สมบัติไว้ในสวรรค์
– มัทธิว 6:19-20

เจิม ซัม


พระเจ้าและเงินทอง

มธ. 6:24
 ไม่มีใครเป็นข้าสองเจ้า บ่าวสองนายได้ เขาจะชังนายคนหนึ่งและจะรักนายอีกคนหนึ่ง เขาจะจงรักภักดีต่อนายคนหนึ่งและจะดูหมิ่นนายอีกคนหนึ่ง ท่านทั้งหลายจะปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าและเงินทองพร้อมกันไม่ได้

เพื่อจะเข้าใจพระวรสารตอนนี้ได้อย่างลึกซึ้ง  เราควรเข้าใจความหมายของคำศัพท์บางคำที่ใช้ในสมัยของพระเยซูเจ้า คำว่า “ข้า” ตรงกับภาษากรีก douleu,ein (ดูแลวเอน) ซึ่งหมายถึงการ “การรับใช้เยี่ยงทาส” ในทางกฎหมาย “ทาส” ไม่ใช่ “คน” แต่เป็น “สิ่งของ”  เพราะฉะนั้น นายจะขาย  จะเฆี่ยนตี จะทิ้ง  หรือจะฆ่าก็ได้  พูดง่าย ๆ คือ นายทำอะไรกับทรัพย์สมบัติของตนได้ ก็กระทำกับทาสของตนได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนั้น “ทาส” ยังไม่มีเวลาเป็นของตัวเองแม้แต่เสี้ยววินาทีเดียว  ซึ่งต่างจากเราในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อหมดเวลาทำงานแล้ว  เรายังมีอิสระที่จะหางานพิเศษทำนอกเวลา หรือจะไปพักผ่อน หรือทำอะไรก็ได้ตามใจเรา แต่ทาสในสมัยพระเยซูเจ้าต้องขึ้นกับนายทั้งวันและทั้งคืน

คำว่า “นาย” ตรงกับภาษากรีก kuri,oij (คูรีออส) หมายถึง “ผู้ที่มีกรรมสิทธิ์เหนือผู้อื่นแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด” พูดง่าย ๆ คือเป็น “เจ้าของ” มากกว่าเป็น “เจ้านาย”

คำว่า “เงินทอง” ตรงกับภาษากรีก mamwna (มาโมนา) ซึ่งมาจากภาษาอาราไมอิก an"Amm' ตามรากศัพท์หมายถึง การไว้ใจ การมอบหมาย เพราะฉะนั้นมาโมนาจึงหมายถึงสิ่งที่เราไว้ใจผู้อื่นให้ดูแล เช่น นายธนาคาร รปภ. ฯลฯ และในตัวมันเองถือว่าเป็นสิ่งดี เป็นพระพรของพระเจ้าที่ประทานแก่ผู้มีความประพฤติดี

ต่อมาความหมายเพี้ยนเป็น สิ่งที่ตัวเราเองมอบความไว้วางใจให้ทั้งหมด เมื่อเราไว้วางใจว่าเงินทองมีอำนาจที่จะช่วยเหลือเราให้พ้นทุกข์และมีความสุขได้  คำว่าเงินทองในภาษากรีกจึงเขียนนำด้วยอักษรตัวใหญ่  Mamon (มาโมน) ซึ่งหมายถึงพระเจ้านั่นเอง  และชาวซีเรียก็ใช้ชื่อนี้เรียกเทพเจ้าแห่งความร่ำรวยของตน

จากคำศัพท์ทั้ง 3 คำ บ่งบอกว่า เราต้องเป็นข้ารับใช้ของพระเจ้าทุกลมหายใจ เพราะพระองค์ทรงเป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์เด็ดขาดเหนือชีวิตของเรา

การรับใช้พระเจ้าแบบ part-time เป็นสิ่งที่พระเยซูเจ้ายินยอมไม่ได้  หรือการเป็นคริสตชนเฉพาะเวลาฟังมิสซาวันอาทิตย์  ส่วนเวลาที่เหลือถือว่าเป็นเวลาอิสระจากการดำเนินชีวิตเยี่ยงคริสตชน ก็เป็นสิ่งที่รับไม่ได้เช่นกัน
  
การมีเงินทองไม่ใช่สิ่งผิด  แต่การไว้วางใจในเงินทองแทนพระเจ้าเป็นสิ่งที่ผิดอย่างแน่นอน  และเพื่อช่วยให้เราจัดลำดับความสำคัญของพระเจ้าและเงินทองได้อย่างถูกต้อง พระเยซูเจ้าทรงให้หลักไว้ยึดปฏิบัติ 3 ประการด้วย กล่าวคือ
  
1.     ทุกสิ่งในโลกล้วนเป็นของพระเจ้า

ความคิดที่ว่าทุกสิ่งในโลกนี้เป็นของพระเจ้า มีอยู่ทั่วไปในพระคัมภีร์ ตัวอย่างเช่น

“เพราะสัตว์ทุกตัวในป่าเป็นของเรา ทั้งสัตว์เลี้ยงบนภูเขาตั้งพันยอด เรารู้จักบรรดานกแห่งภูเขาทั้งหลาย และบรรดาสัตว์ในนาเป็นของเรา ถ้าเราหิว  เราจะไม่บอกเจ้า เพราะพิภพและสารพัดที่อยู่ในนั้นเป็นของเรา”  (สดด. 50:10, 12)

หรือในพระธรรมใหม่ เป็นพระเจ้าเองที่ทรงมอบทรัพย์สมบัติ ความสามารถ หรือแม้แต่สวนองุ่นให้แก่เราหรือให้เราเช่าใช้ เช่น

“ชายผู้หนึ่งจะออกเดินทางไป   จึงเรียกพวกทาสของตนมาฝากทรัพย์สมบัติไว้ คนหนึ่งท่านให้ห้าตะลันต์ คนหนึ่งสองตะลันต์   และอีกคนหนึ่งตะลันต์เดียว   ตามความสามารถของแต่ละคน   แล้วท่านก็ไป” (มัทธิว 25:15)

“จงฟังคำอุปมาอีกเรื่องหนึ่งว่า  ยังมีเจ้าของสวนผู้หนึ่งได้ทำสวนองุ่นแล้วล้อมรั้วไว้รอบ  เขาได้สกัดบ่อย่ำองุ่นในสวน  และสร้างหอเฝ้า  ให้ชาวสวนเช่า  แล้วก็ไปต่างประเทศเสีย” (มัทธิว 21:33)

เมื่อทุกสิ่งในโลกล้วนเป็นของพระเจ้า ที่พระองค์ทรงให้เรา “ยืม” ใช้ เราจึงต้องพยายามใช้ทรัพย์สมบัติและเงินทองตามที่เจ้าของ คือพระองค์ทรงปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ การขาย การแลกเปลี่ยน การแก้ไขดัดแปลง หรือการปรับปรุงต่าง ๆ ก็ตาม
  
2.    มนุษย์สำคัญกว่าสิ่งของ

ในหนังสือปฐมกาล พระเจ้าตรัสว่า “ให้เราสร้างมนุษย์ตามฉายาตามอย่างของเรา   ให้ครอบครองฝูงปลาในทะเล  ฝูงนกในอากาศและฝูงสัตว์ ให้ปกครองแผ่นดินทั่วไป  และสัตว์ต่างๆที่เลื้อยคลานบนแผ่นดิน” พระเจ้าจึงทรงสร้างมนุษย์ขึ้นตามพระฉายาของพระองค์   ตามพระฉายาของพระเจ้านั้น   พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้น และได้ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง พระเจ้าทรงอวยพระพรแก่มนุษย์ตรัสแก่เขาว่า “จงมีลูกดกทวีมากขึ้นจนเต็มแผ่นดิน จงมีอำนาจเหนือแผ่นดิน จงครอบครองฝูงปลาในทะเล และฝูงนกในอากาศ  กับบรรดาสัตว์ที่เคลื่อนไหวบนแผ่นดิน” (ปฐก 1:26-28)

จะเห็นว่าตั้งแต่เริ่มสร้างโลก พระเจ้าทรงให้ความสำคัญกับมนุษย์จนถึงกับสร้างมนุษย์ตามฉายาของพระองค์เอง และให้มีอำนาจปกครองทุกสิ่ง

เมื่อมนุษย์มีความสำคัญเช่นนี้ การใช้แรงงานมนุษย์ราวกับว่าพวกเขาเป็นสิ่งของ เครื่องมือ หรือเครื่องจักรเพื่อให้ได้มาซื่อผลผลิตและความมั่งคั่ง จึงเป็นสิ่งที่ขัดกับพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างสิ้นเชิง และเป็นสิ่งที่ผิด

ตรงกันข้าม เราควรใช้เงินทองและทรัพย์สมบัติที่ได้มา  เพื่อผดุงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของมนุษย์ให้สมกับความสำคัญที่พระองค์ทรงสร้างมา
  
3.    เงินทองต้องเป็นรองจากพระเจ้า

พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่าเงินทองเป็นของชั่วร้าย แต่ “การรักเงินทองเป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งหมด ความโลภเงินทองนี้ที่ทำให้บางคนหลงไปจากความเชื่อ และตรอมตรมด้วยความทุกข์มากมาย” (1 ทธ 6:10)

การรักเงินทองทำให้เราหลงผิดคิดว่า เงินคือพระเจ้าที่สามารถดลบันดาลทุกสิ่งให้แก่เราได้  เมื่อเรารักเงินทอง เราก็โลภอย่างได้เงินทองมากขึ้น  ที่สุดเงินทองจะเข้ามาบงการชีวิตของเราทั้งหมด ซึ่งจะนำเราไปสู่ความชั่วร้ายและความทุกข์อีกมากมาย

ผู้เดียวที่สามารถดลบันดาลความสุขแท้จริงแก่เราได้คือพระเจ้า  เราจะปล่อยให้เงินทองก้าวขึ้นมาเป็น “คู่ปรับ” กับความรอดในองค์พระเจ้าไม่ได้เด็ดขาด
  
เมื่อเราวางตำแหน่งของเงินทองและทรัพย์สมบัติได้อย่างถูกต้อง เราจะรู้จักใช้ความมั่งคั่งที่พระเจ้าประทานให้อย่าง “พอเพียง” และ “เพื่อผู้อื่น” เพื่อเราจะได้ครอบครองสมบัติสวรรค์ที่คงอยู่ชั่วนิรันดร
  
และเมื่อเรารู้บทบาทของเงินทองและทรัพย์สมบัติแล้ว เราควรคิดคำนึงถึงวิธีการได้มาของทรัพย์สมบัติด้วย

เราอาจได้เงินทองมาโดยแลกกับความซื่อสัตย์หรือศักดิ์ศรีของเรา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ โกงเขามา  ถ้าเราทำเช่นนี้ เราอาจมีสมบัติมั่งคั่งขึ้น แต่วิญญาณของเรายิ่งวันยิ่งจนลง และคงถึงขั้นล้มละลายในที่สุด

บางคนอาจได้เงินทองมาโดยการกำจัดคู่แข่งที่อ่อนแอกว่า  ซึ่งในทางธุรกิจอาจถือว่าประสบความสำเร็จที่ไม่มีคู่แข่ง  แต่เราจะนอนเสวยความสุขอยู่บนความทุกข์ของคนอื่นได้อย่างไร

บางคนอาจสะสมทรัพย์สมบัติบนภาระของผู้อื่น เช่น ผ่อนรถยนต์ราคาแพงเกินฐานะ จนลูก ๆ ต้องอดมื้อกินมื้อ เป็นต้น

จะมีประโยชน์อะไรหากเราได้ทรัพย์สมบัติมาด้วยต้นทุนราคาแพงเช่นนี้ ?
  
นอกจากนี้ เรายังต้องคำนึงถึงวิธีการใช้ทรัพย์สมบัติที่ได้มาอีกด้วย

บางคนเก็บรักษาสมบัติที่ได้มาไว้เฉย ๆ โดยไม่ใช้ให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น  และเราได้ยินคำสอนของพระเยซูเจ้าหลายครั้งที่ตรัสว่า สิ่งที่ไม่มีประโยชน์จะถูกตัดทิ้งและโยนใส่กองไฟ

บางคนใช้ทรัพย์สมบัติที่ได้มาอย่างเห็นแก่ตัว เช่น เพื่อจะได้มีทีวีเครื่องใหม่ มีบ้านหลังใหม่ ฯลฯ โดยที่ไม่เคยคิดถึงพระประสงค์ของพระเจ้าแต่ประการใด

บางคนซ้ำร้ายหนักเข้าไปอีก คือใช้สมบัติที่ได้มาในทางที่ผิด เช่น ใช้เพื่อติดสินบนเจ้าหน้าที่ ใช้เพื่อซื้อบริการที่ผิดกฎหมาย ฯลฯ
  
วิธีที่ดีที่สุดในการใช้ทรัพย์สมบัติและเงินทองที่พระเจ้าประทานให้คือ

-    ใช้อย่างพอเพียง ใช้เท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต

-    ส่วนที่เหลือเราต้องแบ่งปันให้ผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าเรา

ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าแสดงให้ท่านเห็นเสมอมาว่า เราต้องทำงานเช่นนี้เพื่อช่วยเหลือผู้อ่อนแอโดยระลึกถึงพระวาจาของพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าที่ว่า “การให้ย่อมเป็นสุขมากกว่าการรับ” (กจ 20:35)

ตราบใดที่เราใช้ทรัพย์สมบัติเพื่อความดีของ “ผู้อื่น” เรากำลังใช้ทรัพย์สมบัติ และกำลังรับใช้พระเป็นเจ้าอย่างถูกต้อง
 .kamsonbkk.com




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ข้อพระคัมภีร์ประจำวันและการอุทิศตน – โคโลสี 2:7

  ข้อพระคัมภีร์ประจำวันและการอุทิศตน – โคโลสี 2:7   จงหยั่งรากและก่อร่างสร้างขึ้นในพระองค์ จงมั่นคงในความเชื่อตามที่ได้รับการสอนมาแล้ว และ...