วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สมบัติแท้ในสวรรค์



สมบัติแท้
มธ 6:19-21
(19)“ท่านทั้งหลายจงอย่าสะสมทรัพย์สมบัติบนแผ่นดินนี้เลย ที่นี่ทรัพย์สมบัติทั้งหลายถูกสนิมและขมวนกัดกิน และถูกขโมยเจาะช่องเข้ามาขโมยไปได้ (20) แต่จงสะสมทรัพย์สมบัติในสวรรค์เถิด ที่นั่นไม่มีสนิมหรือขมวนกัดกิน และขโมยก็เจาะช่องเข้ามาขโมยไปไม่ได้ (21) เพราะทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ใด ใจของท่านก็จะอยู่ที่นั่นด้วย”

เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนที่จะเลือกซื้อเลือกหาสิ่งของที่มีคุณภาพดี แข็งแรงและคงทน  พระเยซูเจ้าเองทรงปรารถนาให้เราเลือกสมบัติที่คงทนยาวนานเช่นเดียวกัน

พระองค์ทรงยกตัวอย่างของทรัพย์สมบัติที่มีค่ามากในสมัยของพระองค์ 3 ประเภทด้วยกัน คือ

1.    สิ่งที่ถูก(สนิม)กัดกิน
ภาษากรีก brw/sij, ewj หมายถึง “การกินจนหมดไป”  ไม่เคยพบว่าใช้ในใจความของ “สนิม”
ในสมัยของพระเยซูเจ้า ชาวยิววัดความมั่งคั่งกันที่จำนวนข้าวโพดหรือข้าวสาลีที่อยู่ในยุ้งฉาง  ถ้ามีเต็มหรือมีหลายยุ้งฉางก็แสดงว่าร่ำรวยมาก
แต่ทั้งเมล็ดข้าวโพดและข้าวสาลีอาจถูกหนู ขมวน หรือสัตว์อื่น ๆ แทะกินจนเสียหายใช้ประโยชน์ไม่ได้ หรืออาจถูกกินไปจนหมดยุ้งฉางก็ได้

2.    สิ่งที่แมลงกินผ้ากัดกินได้
คำภาษากรีก sh,j, shto,j, o` หมายถึงแมลงกินผ้า (moth, a small butterflylike insect whose larva feeds on cloth) ไม่ใช่ขมวน ซึ่งเป็นแมลงพวกด้วงปีกแข็งที่กินปลาแห้ง เนื้อแห้ง และอาหารแห้งอื่น ๆ โดยทิ้งรอยให้เห็นเป็นขุยเล็ก ๆ ออกมา
นอกจากวัดฐานะกันที่จำนวนเมล็ดข้าวแล้ว ชาวยิวยังถือว่าเสื้อผ้าเป็นของมีค่าที่ใช้วัดความมั่งคั่งของผู้สวมใส่อีกด้วย  ตัวอย่างเช่น
- เกหะซีซึ่งเป็นคนใช้ของประกาศกเอลีชา แอบไปขอรางวัลจากนาอามาน แม่ทัพของซีเรีย เป็นเงินหนึ่งตะลันต์ และเสื้อเที่ยวงาน 2 ตัว (2 พกษ 5:22)
- อาคานจากตระกูลยูดาห์ได้ยักยอกเสื้อคลุม  จนถูกหินทุ่มและถูกไฟเผาตายในที่สุด (ยชว 7:21)

3.     สิ่งที่ขโมยเจาะเข้ามาเอาไปได้
ชาวยิวมักซ่อนทรัพย์สมบัติมีค่าเช่นทองไว้ในบ้าน ซึ่งกำแพงส่วนใหญ่ทำด้วยดินตากแห้ง ไม่มีความมั่นคงแข็งแรง  ขโมยจึงสามารถเจาะช่องเข้ามาขโมยสมบัติไปได้โดยง่าย

จะเห็นว่าทรัพย์สมบัติที่ถือว่ามีค่าที่สุดของชาวยิวในสมัยนั้น ล้วนหาความมั่นคงถาวรไม่ได้  และจากตัวอย่างสมบัติทั้ง 3 ประเภท พระเยซูเจ้าทรงเตือนเราดังนี้

1.    เมล็ดข้าวที่เก็บไว้นาน ๆ ย่อมเสีย หรือถูกหนูและแมลงกัดกิน  แปลว่าสมบัติในโลกนี้ถ้าไม่ถูกทำลายไปเสียก่อน ก็สามารถ “ร่วงโรยไปตามกาลเวลา” ได้  ยิ่งเก็บนานก็ยิ่งเสื่อมคุณค่าหรือเสียไป
ความสุขหรือความพึงพอใจก็เช่นเดียวกับสมบัติ  สิ่งของอย่างหนึ่งอาจให้ความสุขแก่เราในวัยเด็ก แต่เมื่ออายุมากขึ้นเราอาจไม่สนใจ หรือสังขารของเราไม่เหมาะกับสิ่งที่ครั้งหนึ่งเราเคยคลั่งไคล้หลงใหลก็เป็นได้
เราจึงไม่ควรใส่ใจกับความสนุกสนานร่าเริงที่กาลเวลาสามารถช่วงชิงไปได้  แต่ควรแสวงหาความสุขที่กาลเวลาไม่อาจบ่อนทำลายได้

2.    สมบัติบางอย่างเป็นเหมือนเสื้อผ้า  แม้จะรอดจากการถูกแมลงกัดกิน แต่หากเราใส่เสื้อผ้าชุดนั้นบ่อย ๆ คุณค่าของเสื้อผ้าชุดนั้นก็จะ “ร่วงโรยไปเพราะความซ้ำซากจำเจ”ความสนุกสนานตื่นเต้นครั้งที่สองย่อมน้อยกว่าครั้งแรก และจะลดน้อยลงเรื่อย ๆ ในครั้งต่อ ๆ ไป เราจะเป็นคนโง่สักปานใด หากเรามุ่งมั่นแสวงหาความสนุกตื่นเต้นในโลกนี้ที่มีแต่จะลดน้อยถอยลงเรื่อย ๆ

3.    ทรัพย์สมบัติที่เป็นวัตถุทุกชนิด อาจถูกขโมยหรือสูญหายหรือถูกทำลายไปได้ทุกเวลา  ไม่มีสิ่งใดมั่นคงถาวรเลย
หากเราสร้างความสุขบนพื้นฐานของวัตถุสิ่งของ เช่นเงินทอง บ้าน รถยนต์ เกิดวันหนึ่งไฟไหม้ หรือเราล้มละลาย  ความสุขของเราก็พลอยสูญสิ้นไปพร้อมกับทรัพย์สมบัตินั้นด้วย
ผู้ที่ชาญฉลาดย่อมสร้างความสุขบนพื้นฐานของสิ่งที่ไม่อาจสูญหาย หรือถูกเซาะทำลายไปเพราะกาลเวลา
สิ่งนั้นคือ ทรัพย์สมบัติในสวรรค์
ถ้าเราให้คุณค่ากับสิ่งของของโลกนี้ จิตใจของเราจะยึดติดอยู่กับโลกนี้ และไม่อยากจากโลกนี้ไป
แต่ถ้าเราให้คุณค่ากับสมบัติสวรรค์ ใจเราจะยึดติดกับสวรรค์และเราจะพร้อมจากโลกนี้ไปด้วยความยินดี

kamsonbkk.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ข้อพระคัมภีร์ประจำวันและการอุทิศตน – โคโลสี 2:7

  ข้อพระคัมภีร์ประจำวันและการอุทิศตน – โคโลสี 2:7   จงหยั่งรากและก่อร่างสร้างขึ้นในพระองค์ จงมั่นคงในความเชื่อตามที่ได้รับการสอนมาแล้ว และ...