วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ทำไมต้องภาวนา



การภาวนาในชีวิตประจำวัน


1. พระเยซูเจ้าทรงวางแบบอย่างให้เรา

           พระเยซูเจ้าทรงเป็นบุคคลแห่งการภาวนา ชีวิตทั้งชีวิตของพระองค์คือการภาวนา เราลองพิจารณาชีวิตของพระองค์ดังนี้

            ก่อนเริ่มต้นการออกมาปฏิบัติพันธกิจชีวิตเปิดเผยพระองค์ทรงไปภาวนาในที่สงัดเงียบ 40 วัน 40 คืน(มัทธิว 4:1-11)

           แม้งานยุ่งยังทรงปลีกตัวจากประชาชนเพื่อภาวนา(ลูกา 5:16)

           พระองค์ภาวนาในตอนเช้า(มาระโก 1:35)

           ทรงภาวนาก่อนที่จะลงมือกระทำงานสำคัญๆเป็นพิเศษ เช่น การเลือกสาวก(ลูกา 6:12)

           ทรงภาวนาหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ(ยอห์น 6:15)

           ภาวนาเพื่อขอบพระคุณพระบิดา(ยอห์น 11:41)

           ภาวนาในขณะที่เพชิญกับความยากลำบาก(ยอห์น 12:27-28; ลูกา 23:34; มาระโก 15:34; ลูกา 23:46)

          ในชีวิตภาวนาของพระเยซูเจ้าพระจิตสถิตกับพระองค์ตลอดเวลา(มัทธิว 18:19-20; ยอห์น 14:18-31)

การภาวนาของพระเยซูเจ้าแสดงถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างพระบิดาพระบุตรและพระจิต

2. การภาวนาคืออะไร

          การภาวนาคือการยก “ความคิด” และ “จิตใจ” ขึ้นหาพระเจ้า

– ใช้เวลาอยู่กับพระเจ้า

เป็นวิธีการสื่อสารที่เรามนุษย์ปฏิบัติเมื่อเราต่อการติดต่อกับพระเจ้า

– เป็นการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์

– เป็นการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ที่เรามีต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า

– เป็นการพูดคุยอย่างเปิดใจระหว่างพ่อ/แม่กับลูก

– เป็นโอกาสที่เราพบปะกับพระเจ้าเป็นการส่วนตัว

3. ทำไมต้องภาวนา

          จากความจริงของชีวิต - เราเป็นสิ่งสร้าง พระเจ้าทรงเป็นผู้สร้าง ทุกอย่างมาจากพระเจ้า ปราศจากพระเจ้าเราทำอะไรไม่ได้เลย ทุกอย่างเราต้องพึ่งพาอาศัยความช่วยเหลือจากพระเจ้า ลองนึกดูซิแม้แต่การเกิดมาและการมีชีวิตอยู่ในขณะนี้

           พระเจ้าเป็นพ่อ/แม่ของเรา ทรงรักเราอย่างที่ไม่มีใครรักเราได้ เราทุกคนเป็นลูกรักของพระเจ้า “มีพ่อคนใดที่ลูกขอปลาจะให้งู ขอขนมปังจะให้ก้อนหิน....” (มัทธิว 7:7-11) ดูเรื่อง เพื่อนบ้านที่สร้างความรำคาญ(ลูกา 11:5-13) หญิงม่ายที่กวนใจ(ลูกา 18:1-8) ฟาริสีและคนเก็บภาษี(ลก 18:9-14)

4. ภาวนาอย่างไร

           ให้ “หัวใจ” ของเราพูดกับพระเจ้า – เรามีอะไรก็บอกพระเจ้า – เราต้องการความช่วยเหลืออะไรก็บอกพระเจ้า - เรามีทุกข์ร้อนอะไรก็บอกพระเจ้า – เป็นการเล่าเรื่องต่างๆทั้งสุขและทุกข์ให้พระเจ้าซึ่งเป็นพ่อ/แม่ของเรา - การภาวนาจึงไม่ใช่การขอสิ่งต่างๆจากพระเจ้าแต่เพียงอย่างเดียว แต่เราต้องขอบพระคุณ และสรรเสริญ นมัสการพระองค์ด้วย

            เรามักจะใช้เวลาช่วงไหนในการภาวนา สถานการณ์ใดในชีวิตที่เราสวดภาวนาได้ดีที่สุด

5. การภาวนาในช่วงเวลาและสถานการณ์ต่างๆในชีวิต

            ให้อ่าน มาระโก 1:14-35 แล้วแยกแยะว่าในหนึ่งวันพระเยซูเจ้าทำอะไรบ้าง พระองค์ทรงจัดเวลาเพื่อการภาวนาอย่างไร แล้วจงวางแผนชีวิตของเราในการภาวนาด้วย


6. เครื่องมือในการภาวนา

            เรามีอุปกรณ์และโอกาสที่ช่วยให้เราได้คิดถึงพระเจ้าและสวดภาวนาได้อยู่เสมอ เช่นหนังสือสวด สายประคำ บทเพลง/ดนตรี รูปพระต่างๆ สัญลักษณ์ ธรรมชาติ เหตุการณ์ต่างๆในชีวิต การเฝ้าศีลฯ การเดินรูป 14 ภาค การเดินสมาธิ การแสวงบุญ/การเดินทางท่องเที่ยว การอ่านพระคัมภีร์ การอ่านหนังสือประวัตินักบุญ การร่วมพิธีกรรมและวจนพิธีกรรมต่างๆ การฉลอง การแห่ การเขียน/การวาดภาพ/การถ่ายภาพ ฯลฯ

7. บทภาวนาที่พระเยซูเจ้าทรงสอน “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย”

            เป็นบทสรุปพระวรสารทั้งหมด

             สามประโยคแรกเป็นหน้าที่ของเราต่อพระเจ้า จากนั้นเป็นการวอนขอพระพรจากพระเจ้าเพื่อเราจะได้ทำหน้าที่ที่พระเจ้าทรงมอบให้ให้สำเร็จไปตามพระประสงค์

8. บทวันทามารีอา 

            มาจากคำทักทายของทูตสวรรค์คาเบรียล เราต้อนรับพระมารดาของพระเยซูเจ้าเข้ามาในบ้านของเราเหมือนศิษย์ที่พระองค์ทรงรัก เพราะพระแม่กลายเป็นมารดาของทุกสิ่งที่มีชีวิต

เราสามารถภาวนากับพระนางและภาวนาถืงพระแม่ คำภาวนาของพระแม่ช่วยค้ำจุนคำภาวนาของพระศาสนจักร เราดูบทบาทของพระแม่ในเรื่องอัศจรรย์ที่เมืองคานา(ยอห์น 2:1-10)

(คุณพ่อวัชศิลป์ : โอกาสอบรมครูคาทอลิกสังฆมณฑลราชบุรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2009)


"จงอธิษฐานอย่างสม่ำเสมอ" (1เธสะโลนิกา 5:17 ThaiTSV2002)

ชีวิตของเราชาวคริสต์ มีสิทธิพิเศษในการที่จะสามารถอธิษฐานกับพระเจ้า และได้รับการปกป้องจากพระเจ้า

"ข้าพระองค์ไม่ได้ขอให้พระองค์เอาพวกเขาออกไปจากโลก แต่ขอให้ปกป้องเขาไว้ให้พ้นจากมารร้าย" (ยอห์น 17:15 ThaiTSV2002)

"แต่พวกท่านเป็น พงศ์พันธุ์ที่ทรงเลือกสรร เป็นพวกปุโรหิตหลวง เป็นชนชาติบริสุทธิ์ เป็นประชากรอันเป็นกรรมสิทธิ์ของพระเจ้า เพื่อให้พวกท่านประกาศพระเกียรติคุณ (แปลได้อีกว่า ประกาศกิจการอันอัศจรรย์) ของพระองค์ ผู้ได้ทรงเรียกพวกท่านให้ออกมาจากความมืด เข้าไปสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์" (1เปโตร 3:9 ThaiTSV2002)

ปุโรหิตมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการอธิษฐาน ในการติดต่อกับพระเจ้า ในสมัยกลางของประวัติศาสตร์คริสตจักรได้มีการสอนผิดเพี้ยนว่าพระเท่านั้นที่จะสามารถอธิษฐาน เป็นตัวกลางกับพระเจ้าได้ แต่ท่านมาร์ติน ลูเธอร์ ผู้ซึ่งป็นพระเหมือนกัน ได้ออกมาคัดค้าน โดยใช้ข้อพระคัมภีร์นี้ยืนยันว่าเราทุกคนเป็นปุโรหิตหลวง คริสเตียนทุกคนมีสิทธิที่จะอธิษฐานติดต่อกับพระเจ้าได้โดยตรง ไม่ต้องอาศัยคนกลาง

"เพราะฉะนั้นท่านจงสารภาพบาปต่อกันและกัน และจงอธิษฐานเผื่อกันและกัน เพื่อท่านทั้งหลายจะได้รับการรักษาโรค คำวิงวอนของผู้ชอบธรรมนั้นมีพลังมากและเกิดผล" (ยากอบ 5:16 ThaiTSV2002)

ในพระคัมภีร์ 1เธสะโลนิกา จึงได้เขียนย้ำให้เราอธิษฐานอย่างสม่ำเสมอ เพราะการอธิษฐานวิงวอนมิได้เพียงอธิษฐานเพื่อขอเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการมีสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้า เน้นเรื่องความผูกพันกับพระเจ้าตลอดเวลา หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า "การมีสัมพันธภาพกับพระเจ้าอยู่ตลอดเวลา" นั่นเอง เหมือนกับพ่อแม่ที่ปรารถนาที่จะให้ลูกมีความสัมพันธ์ที่ดีกับท่าน

นี่มิได้หมายความว่าเราจะต้องอธิษฐานกับพระเจ้าตลอดเวลาโดยไม่ต้องทำอะไรเลย เอาแต่อธิษฐานอย่างเดียว แต่หมายความว่าให้เราติดสนิทกับพระเจ้าทุกเวลา ทำงานก็คิดถึงพระเจ้าได้ เห็นธรรมชาติที่สวยงามก็คิดถึงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าได้ เจอปัญหาที่หนักใจก็คิดเสมอว่าพระเจ้าทรงสามารถช่วยได้ คนที่มีความผูกพันที่ดีกับพระเจ้า ไม่ว่าจะเจออะไรก็จะนึกถึงพระเจ้าเสมอ

มีนักวิชาการคนหนึ่งพูดไว้น่าสนใจว่า การอธิษฐานกับพระเจ้าอย่างสม่ำเสมอ หมายถึง การ Online กับพระเจ้าตลอดเวลา

เมื่อเราคิดถึงสิทธิอำนาจในการอธิษฐาน เราจะต้องขอบคุณพระเจ้ามาก ๆ เพราะจริง ๆ แล้วเราเป็นใคร เราดีเพียงไร เรามีเงื่อนไขที่ดีอย่างไร ที่พระเจ้าได้ทรงประทานสิทธินี้ให้แก่เรา ทั้งสิ้นล้วนเป็นพระคุณความรักของพระเจ้า พระองค์ทรงรัก และให้ความสำคัญแก่เรา

พี่น้องที่รัก ให้เรารักษาสัมพันธภาพที่ดีกับพระเจ้าตลอดเวลา อย่าให้ขาดเลย แล้วเราจะได้รับพลังจากพระเจ้าในการเผชิญปัญหาทั้งปวง ให้เรามีกำลังที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างมีชัยชนะ

ข้อคิดที่อยากฝากให้เราได้คิด ได้แก่

อธิษฐานมาก จะเหนื่อยน้อย

อธิษฐานน้อย จะเหนื่อยมาก

ไม่อธิษฐานเลย จะเหนื่อยเปล่า

"6 อย่ากระวนกระวายในสิ่งใดๆเลย แต่จงทูลพระเจ้าให้ทรงทราบทุกสิ่งที่พวกท่านขอ โดยการอธิษฐานและการวิงวอน พร้อมกับการโมทนาพระคุณ

แล้วสันติสุขของพระเจ้าที่เกินความเข้าใจ จะคุ้มครองจิตใจและความคิดของท่านทั้งหลายไว้ในพระเยซูคริสต์" (ฟิลิปปี 4:6-7 ThaiTSV2002)
followhissteps.com



การอธิษฐาน
1. เปรียบเสมือนลมหายใจ
2. เปรียบดัง น้ำรดลงในดิน
3. คือพลังฝ่ายจิตวิญญาณ
4. คือการสนทนากับพระเจ้า
5. คือการแสดงถึงการเชื่อฟัง
6. คือการสามัคคีธรรมระหว่างพ่อกับลูก
7. คือการให้คุณค่าแก่พระผู้สร้างชีวิต
8. เมื่ออธิษฐานทุกสิ่งก็เป็นไปได้
#การอธิษฐานมักมีสิ่งอัศจรรย์เกิดขึ้น

- 1เธสะโลนิกา 5:17-18 จงอธิษฐานอย่างสม่ำเสมอ จงขอบพระคุณในทุกกรณี เพราะนี่แหละเป็นน้ำพระทัยของพระเจ้า ซึ่งปรากฏอยู่ในพระเยซูคริสต์เพื่อท่านทั้งหลาย-
เรียนพระคัมภีร์ ออนไลน์ กับ เจริญ ยธิกุล

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ความสุขแท้จริง





“ความสุข” ตามหลักคำสอนของคาทอลิก

1. ความสุขแบบคริสตชนคืออะไร

          • ก่อนอื่นเราทุกคนที่รู้จักนับถือพระเจ้าหรือไม่ก็ตามต่างก็มีความปรารถนาในใจของทุกคนว่าต้องการมีความสุข เช่น การอวยชัยให้พรกัน การส่ง ส.ค.ส. ให้กัน การซื้อของต่างๆ การกิน การอยู่ ฯลฯ แต่....ความสุขคืออะไร หมายความว่าอย่างไร
          • ในคำสอนของคาทอลิก ให้เรามองและพิจารณาชีวิตและคำสอนของพระเยซูเจ้าเป็นหลัก คำสอนแรกหรือปฐมเทศนาของพระองค์ คือ ในมัทธิว 5:1-11(เชิญอ่าน) สรุปได้ว่าความสุขทั้งแปดประการนี้พบเห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนใน “ชีวิตของพระเยซูเจ้าเอง” สุขเพราะใจยากจนเป็นอย่างไรก็ให้มองชีวิตของพระเยซู สุขเพราะใจทุกข์ระทมเป็นอย่างไร-มองดูชีวิตของพระเยซูเจ้า ฯลฯ

         • ความสุขแท้จริงของมนุษย์จึงขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของชีวิตระหว่างตัวเรากับพระเยซูเจ้า เราต้องมองดูชีวิตของพระองค์ตั้งแต่ การบังเกิด-การสิ้นพระชนม์-และการกลับฟื้นคืนชีพ

         • อยากมีความสุขแท้ต้องดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของพระเยซู
         • ความสุขตามหลักคำสอนของพระเยซูเจ้าจึงเป็นการก้าวพ้นความสุขตามประสาธรรมชาติมนุษย์ สุขที่ไม่ได้เกิดขึ้นจาก “การมี” แต่สุขจาก “การเป็นคนดี”

2. ความสุขเช่นนี้คนที่ไม่รู้จักพระเจ้าจะเข้าใจได้อย่างไร

         • ความสุขแท้ตามคำสอนของพระเยซูเจ้าเป็นการดำเนินชีวิตที่มองแล้วว่าเป็นการทวนกระแสสังคมของเรา แต่เราต่างก็มีประสบการณ์แล้วว่าสิ่งของวัตถุชื่อเสียงเกียรติยศไม่สามารถนำความสุขที่แท้จริงมาให้เราได้ มีตัวอย่างมากมายให้เราเห็น
         • เราพูดได้ว่ามนุษย์ทุกคนต่างแสวงหาความสุขด้วยกันทั้งนั้น ก่อนอื่น “ใจที่แสวงหา” นี้ เราถือว่าพระเจ้าทรงใส่ความปรารถนานี้ลงในจิตใจของเรา เพื่ออะไร ก็เพื่อจะได้ทำให้มนุษย์แสวงหาความสุขที่แท้จริง นั้นก็คือ ที่สุดแล้วเมื่อมนุษย์ลองผิดลองถูกแสวงหาความสุขใส่ตัวด้วยวิธีการต่างๆแล้ว พระองค์หวังว่าเขาจะมาลงเอยที่พระองค์นั้นเอง
         • นี้ที่เราเรียกว่า “กระแสเรียก” ที่พระเจ้าทรงเรียกหรือดึงดูดมนุษย์ทุกคนให้เข้ามาหาพระองค์เพื่อจะได้รับความสุขแท้
         • “ความสุขแท้” จึงเป็นจุดหมายปลายทางที่พระเจ้าทรงใช้เพื่อเรียกให้เราแต่ละคน แต่ละครอบครัว และทุกๆคนให้เข้ามาเป็นประชากรของพระองค์

3. ความสุขแท้ตามคำสอนของคาทอลิกไม่ใช่มาจากการมีแต่เป็นสภาพของการดำเนินชีวิต 

            ในคำสอนของพระเยซูเจ้าพระองค์ทรงสอนถึงเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า ชีวิตนิรันดร์ คำเหล่านี้บ่งบอกถึงความสุขใช่หรือไม่
         • ถูกต้องแล้ว ถ้อยคำที่พระคัมภีร์บันทึกคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้ามักจะพูดถึงความสุขแท้ที่แสดงให้เราเห็นถึงเงื่อนไขของการได้รับความสุข 3 ภาพสำคัญ คือ

          • การมาถึงของพระอาณาจักรของพระเจ้า หมายความว่า ใครก็ตามที่เข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าคนนั้นย่อมได้รับความสุข ใครก็ตามที่จิตใจของเขามอบให้พระเจ้าเป็นเจ้านายไม่ยอมให้ปีศาจมาเป็นเจ้านายคนนั้นย่อมเป็นสุข นี้เป็นประการแรก ประการที่สอง “พระเยซูทรงสัญญาว่า “ผู้ใดมีใจบริสุทธิ์ก็เป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า” (มธ 5:8) นี้เป็นคุณลักษณะที่เราจะต้องมีคือการมีใจบริสุทธิ์คือการไม่คิดร้ายหรือคิดไม่ดีทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น มีใจยอมรับเคารพผู้อื่น มองความดีของคนอื่นได้ยอมรับความดีของคนอื่น ใครทำได้เช่นนี้ย่อมเห็นพระเจ้าและมีความสุขแท้ ประการที่สาม “การเข้าสู่การพักผ่อนของพระเจ้า”(เทียบ ฮบ 4:7-11) หมายความว่าเมื่อเราจากโลกนี้ไปตามที่พระเจ้าทรงให้สัญญาไว้ในเรื่องของคนใช้ที่ทำประโยชน์จากเงินที่นายให้(เทียบ มธ 25:21-23) “ดีมากคนใช้ที่ดีและซื่อสัตย์ เจ้าซื่อสัตย์ในสิ่งเล็กน้อย..จงมาร่วมยินดีกับนายของเจ้าเถิด”

4. ความสุขแท้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

         • ก่อนอื่นความสุขตามคำสอนของพระเยซูเจ้านี้ เป็นความสุขที่อยู่เหนือกำลังและความเข้าใจของมนุษย์ เราคริสตชนถือว่า ความสุขแท้นี้เป็น “ของขวัญ” ที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ให้มนุษย์เราแบบให้เปล่า เพื่อให้เราได้มีส่วนร่วมในความปีติสุขกับพระเจ้า ทั้งนี้เพราะพระเจ้ายิ่งใหญ่เกินกำลังของเรา ความสุขจากการทำตามคำสอนของพระองค์ในโลกนี้จึงเป็น “การลิ้มรส” ความสุขแท้ในเมืองสวรรค์

         • ความสุขแท้เช่นนี้ต้องมาจาก “การตัดสินใจเลือก” ของเราเอง พระเจ้าทรงเชื้อเชิญเราให้แสวงหา ไม่ได้บังคับ แต่เราต้องรับผิดชอบจากการเลือกของเรา

         • พระองค์ต้องการให้เราชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จากสัญชาติญาณความชั่วร้าย และให้แสวงหาความรักต่อพระเจ้าเหนือสิ่งอื่นใด

         • ความสุขแท้มิได้พบในความร่ำรวยหรือการกินดีอยู่ดี ในเกียรติยศหรือในอำนาจหรือในความสำเร็จ สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต แต่ไม่ใช่จุดหมายปลายทางของชีวิต เราจะพบความสุขแท้ในพระเจ้าเท่านั้น

5. หลักปฏิบัติของเราคาทอลิกที่ชัดเจนซึ่งเป็นหนทางนำไปสู่ความสุขมีอะไรบ้าง

        • เราต้องปฏิบัติตาม พระบัญญัติ 10 ประการ คำสอนเรื่องความสุขแท้จริง คำสอนของอัครสาวก และความช่วยเหลือจากพระจิตเจ้าที่ผ่านทางการภาวนาของเรา
        • เรื่องต่างๆเหล่านี้เราพบได้ในพระวาจาของพระเจ้า ดังนั้นจึงขอเชิญชวนให้เราอ่านพระคัมภีร์ทุกๆวัน แล้วนำคำสอนจากพระคัมภีร์นั้นไปปฏิบัติตามทีเล็กทีละน้อย เราแต่ละคนจะได้ชิดสนิทกับพระเจ้า มีส่วนร่วมในพระธรรมชาติของพระเจ้า และเมื่อเราได้พบพระเจ้าด้วยวิธีนี้แล้วความปีติสุขหรือความสุขที่แท้จริงจะบังเกิดในใจของท่าน

kamsonbkk.com

วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ความหมายของ เกลือดองแผ่นดิน และแสงสว่างส่องโลก



 มัทธิว 5:13-16
เกลือดองแผ่นดิน และแสงสว่างส่องโลก

(13)ท่านทั้งหลายเป็นเกลือดองแผ่นดิน ถ้าเกลือจืดไปแล้ว จะเอาอะไรมาทำให้เค็มอีกเล่า เกลือนั้นย่อมไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากจะถูกทิ้งให้คนเหยียบย่ำ (14) ท่านทั้งหลายเป็นแสงสว่างส่องโลก เมืองที่ตั้งอยู่บนภูเขาจะไม่ถูกปิดบัง (15) ไม่มีใครจุดตะเกียงแล้วเอามาวางไว้ใต้ถังแต่ย่อมตั้งไว้บนเชิงตะเกียง จะได้ส่องสว่างแก่ทุกคนในบ้าน (16) ในทำนองเดียวกัน แสงสว่างของท่านต้องส่องแสงต่อหน้ามนุษย์ เพื่อคนทั้งหลายจะได้เห็นกิจการดีของท่าน และสรรเสริญพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์

 “เกลือ” และ “แสงสว่าง” เป็นสิ่งที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์ เราใช้เกลือในการถนอมอาหารไม่ให้เน่าเสีย ดังสำนวนที่ว่า “ฆ่าควายอย่าเสียดายเกลือ” เกลือจึงเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ถึงขนาดที่บางเผ่าในแอฟริกากำหนดให้ฝ่ายชายต้องจ่ายค่าสินสอดเป็นเกลือ มิฉะนั้นจะไม่ยกลูกสาวให้ ขณะที่กองทัพโรมันใช้เกลือเป็นค่าจ้างจ่ายให้ทหารในแต่ละเดือน อันเป็นที่มาของคำว่า “Salary” ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า เงินเดือน

ส่วน “แสงสว่าง” ทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ และเป็นสิ่งที่ทำให้สิ่งมีชีวิตอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ และมนุษย์ โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตจำพวกพืชที่ใช้แสงแดดในการสังเคราะห์แสง  เพื่อการเจริญเติบโต ชาวโรมันมีสำนวนว่า “ไม่มีสิ่งไหนมีประโยชน์มากเท่ากับดวงอาทิตย์และเกลือ” (Nil utilius sole et sale) เพราะหากไม่มีดวงอาทิตย์ เราจะไม่เห็นแสงสี ความสวยงาม และการเปลี่ยนแปลงในชีวิต หากไม่มีเกลืออาหารจะเน่าเสียและขาดรสชาติไป

พระเยซูเจ้าทรงใช้ภาพพจน์ของ “เกลือ” และ “แสงสว่าง” ที่ชาวยิวคุ้นเคยและเข้าใจดีเพื่อสอนศิษย์ของพระองค์ “เกลือ” หมายถึงการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าและเป็นแบบอย่างที่ควรแก่การยกย่อง เมื่อพระองค์ตรัสว่า “ท่านทั้งหลายเป็นเกลือดองแผ่นดิน” จึงเป็นการเน้นให้เห็นคุณค่าและประโยชน์ ที่ศิษย์ของพระองค์พึงตระหนักอยู่เสมอ ดุจเกลือซึ่งมีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ อาทิ ทำให้บริสุทธิ์ ถนอมอาหาร และเพิ่มรสชาติ

ส่วน “แสงสว่าง” พระเยซูเจ้าได้อธิบายให้เห็นภาพ “เมืองที่ตั้งบนภูเขา” ไม่สามารถปิดบังได้ และตรัสถึง “ตะเกียงที่ใช้จุดภายในบ้าน” เมื่อจุดแล้วย่อมตั้งไว้บนเชิงตะเกียงเพื่อส่องสว่างแก่ทุกคนในบ้าน มิใช่เอาถังครอบไว้ เมื่อพระองค์ตรัสว่า “ท่านเป็นแสงสว่างส่องโลก” เราต้องเป็น แหล่งพลังสำหรับคนอื่นและฉายแสงให้คนอื่นได้เห็นกิจการดีในตัวเรา ดุจแสงอาทิตย์ที่มีหน้าที่ส่องสว่าง นำทาง และทำให้เจริญเติบโต

พระเยซูเจ้าตรัสอย่างชัดเจนว่า “ท่านเป็นเกลือและแสงสว่าง” เราต้องทำให้ความเชื่อของเราเกิดผลในภาคปฏิบัติคือ “ความรัก” ที่กลายเป็นเกลือดองแผ่นดินและแสงสว่างส่องโลก เราต้องดำเนินชีวิตเป็นพยานถึงองค์พระคริสตเจ้า ฉายแสงเพื่อนำความสว่างไปสู่ชีวิตของผู้อื่น ช่วยให้พวกเขามีชีวิตชีวา มีคุณค่า และความชื่นชมยินดี “แสงสว่างของท่านต้องส่องแสงต่อหน้ามนุษย์ เพื่อให้คนทั้งหลายได้เห็นกิจการดีของท่าน และสรรเสริญพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์” (มธ 5:16)

ดังนั้น ชีวิตของเรา สิ่งที่เราทำ และวิธีการที่เราใช้ ต้องเป็นเกลือและแสงสว่างที่มีความหมายสำหรับผู้อื่น กิจการที่เรากระทำต้องเป็นเครื่องหมายที่มองเห็นได้แห่งการประทับอยู่ของพระเจ้าในโลก คริสตชนต้องโดดเด่นต่อหน้าผู้อื่นผ่านทางการกระทำและชีวิตของเรา เป็นต้น ในความรักต่อกัน การให้อภัยกัน ความเห็นอกเห็นใจกัน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และแบ่งปันสิ่งที่เรามีแก่ผู้อื่น เช่นนี้เอง เราจะได้ชื่อว่าเป็น “เกลือดองแผ่นดินและแสงสว่างส่องโลก”
(คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์)

“เพื่อคนทั้งหลายจะได้เห็นกิจการดีของท่าน และสรรเสริญพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์”

1.    กิจการดี  ในภาษากรีกมีคำว่า “ดี” อยู่ 2 คำคือ agathos (อากาธอส) ซึ่งบ่งบอกว่าสิ่งหนึ่งมีคุณภาพดี  อีกคำหนึ่งคือ kalos (คาลอส) ซึ่งนอกจากจะ “ดี” แล้ว ยังมี “เสน่ห์ สวยงาม และดึงดูด” อีกด้วย  และคำที่ใช้ ณ ที่นี้คือ kalos
เพราะฉะนั้นกิจการที่คริสตชนทำนอกจากจะต้อง “ดี” แล้วยังต้อง “ดึงดูด” อีกด้วย  แต่น่าเศร้าที่ความดีของหลายคนมาพร้อมกับความแข็งกระด้าง ความเย็นชา หรือความเคร่งขรึมแบบหน้าตาบอกบุญไม่รับ
กิจการดีจึงมีทั้งที่ดึงดูด หรือผลักดันผู้อื่นให้ถอยห่างจากเรา  สำหรับคริสตชนแล้วกิจการที่ดีจริงต้องดึงดูดเท่านั้น

2.    สรรเสริญพระเจ้า  กิจการดีของเราต้องดึงดูดผู้อื่นไม่ใช่ให้เข้ามาหาตัวเราเอง แต่มาหาพระเจ้า
ในการสัมมนาระดับชาติครั้งหนึ่ง ผู้เข้าร่วมประชุมต่างร้อนรนและสวดภาวนาตลอดคืน  รุ่งเช้าประธานถามสมาชิกว่าได้ทำอะไรกันบ้างเมื่อคืนที่ผ่านมา พวกเขาตอบว่า “ดูหน้าพวกเราสิ มันส่องแสงแล้วนะ” แต่ประธานกลับตอบด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลว่า “โมเสสไม่รู้นะว่าหน้าตัวเองส่องแสง”
ตราบใดที่เราทำทุกอย่างโดยคิดถึงความชื่นชม ชื่อเสียง การยกย่องสรรเสริญ หรือคำขอบคุณที่ตัวเราจะได้รับ ตราบนั้น เรายังไม่ได้เริ่มต้นเดินตามหนทางเยี่ยงคริสตชนด้วยซ้ำ !
kamsonbkk.com

โป๊ปฟรังซิส - คริสตชนต้องปฏิเสธการโกง การเห็นแก่ตัว การอิจฉา และการนินทา 

สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงสอน การที่คริสตชนจะเป็นแสงสว่างส่องโลกและเป็นเกลือดองแผ่นดิน เราต้องเป็นอิสระจากการโกง 

การหลีกหนีจากการโกง ต้องทำต่อเนื่องทุกวัน เพราะการโกงไม่มีวันจบสิ้น 

นอกจากนี้ เรายังต้องปฏิเสธเมล็ดพันธุ์สกปรกที่เกิดจากความเห็นแก่ตัว ความอิจฉา และการนินทาเพราะสิ่งนี้ทำลายสังคมของเรา 

พระสันตะปาปาตรัสแบ่งปันว่า

- คริสตชนได้รับกระแสเรียกให้มอบรสชาติที่ดีให้กับชีวิตของตน และในเวลาเดียวกัน เรายังต้องหลีกหนีจากเมล็ดพันธุ์สกปรกอันเนื่องมาจากความเห็นแก่ตัว ความอิจฉา และการนินทา เมล็ดพันธุ์สกปรกเหล่านี้ทำลายโครงสร้างสังคมของเรา ทั้งที่สังคมนี้ควรจะเป็นสถานที่ซึ่งต้อนรับทุกคน ร่วมแบ่งปันความเป็นหนึ่งเดียวกัน และทำให้เกิดการคืนดีกัน

- การจะเติมเต็มพันธกิจนี้ อันดับแรกเลย เราต้องเป็นอิสระจากซากเน่าเปื่อยอันเนื่องจากการโกงตามจิตตารมณ์ทางโลก การชำระตัวเองให้บริสุทธิ์จากการโกงไม่มีวันสิ้นสุด มันเป็นสิ่งที่เราต้องทำอย่างต่อเนื่อง ทำทุกๆ วัน


- พระเยซูทรงสอนว่าไม่มีใครจุดตะเกียงแล้วนำไปไว้ใต้ถัง ดังนั้น เรามีหน้าที่และความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ต่อพระพรที่เราได้รับ กล่าวคือ เราต้องอย่าดูแลแสงแห่งความเชื่อซึ่งอยู่ในตัวเราว่าเป็นเหมือนสมบัติของเราคนเดียว เพราะนี่คือผลงานของพระคริสตเจ้าและพระจิต ตรงกันข้าม เราถูกเรียกมาเพื่อทำให้แสงนี้ส่องสว่างในโลก และมอบแสงนี้ให้ทุกคนผ่านทางกิจการดีงามที่เรากระทำ

mcpswis.mcp.ac.th

วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

ธรรมบัญญัติคืออะไร




ธรรมบัญญัติคืออะไร
ทั้ง ๆ ที่นักบุญเปาโลกล่าวว่า “พระคริสตเจ้าคือจุดจบของธรรมบัญญัติ” (รม 10:4) แต่ทำไมพระเยซูเจ้าเองจึงบอกว่าธรรมบัญญัติจะคงอยู่ทุกตัวอักษรตราบใดที่ฟ้าและดินยังไม่สูญสิ้นไป

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เมื่อพูดถึง “ธรรมบัญญัติ” (The Law) ชาวยิวหมายถึง 4 อย่างคือ

1.    บัญญัติสิบประการ

2.    หนังสือพระธรรมเก่าห้าเล่มแรกที่เรียกกันว่า ปัญจบรรพ (Pentateuch)

3.    ใช้ในสำนวน The Law and the Prophets เพื่อหมายถึงพระคัมภีร์ทั้งครบ (ขณะนั้นคือ Old Testament เท่านั้น)

4.    ธรรมประเพณี (Oral and Scribal Law)

สิ่งที่ทั้งพระเยซูเจ้าและนักบุญเปาโลต่างประณามคือธรรมบัญญัติตามความหมายสุดท้าย
เราจะพบว่าในพระธรรมเก่ามีกฎระเบียบอยู่น้อยมาก แม้บัญญัติสิบประการเองก็ไม่ใช่กฎระเบียบ แต่เป็นเพียงหลักการกว้าง ๆ อันยิ่งใหญ่ที่แต่ละคนจะต้องตีความและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของตน โดยอาศัยคำแนะนำหรือการดลใจของพระเจ้า

แต่ชาวยิวสมัยหลังเห็นว่าลำพังหลักการเท่านี้ไม่เพียงพอ พวกธรรมาจารย์จึงพยายามดึงกฎเกณฑ์หยุมหยิมมากมายจากหลักการข้างต้น เพื่อให้ครอบคลุมสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตมนุษย์ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

กฎเกณฑ์หยุมหยิมที่พวกธรรมาจารย์พยายามคิดค้นขึ้นมานี่แหละเรียกว่า “ธรรมประเพณี”

ยกตัวอย่างเช่น บัญญัติสิบประการกำหนดเป็นหลักการไว้ว่า “จงทำวันสับบาโตให้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ และห้ามทำงานในวันสับบาโต”

ปัญหาของพวกธรรมาจารย์ก็คือ “อะไรคืองาน ?”  พวกเขาจึงต้องระดมความคิดและเวลามากมายเพื่อช่วยกันกำหนดกฎเกณฑ์ว่าด้วย “งาน”

ประการแรก งานคือ “การแบกของ” แต่ปัญหาต่อมาคือ “ของอะไรบ้างที่แบกได้หรือไม่ได้ ?” พวกเขาก็ได้กฎเกณฑ์ออกมาว่า สิ่งที่แบกได้ในวันสับบาโตคือ อาหารที่มีน้ำหนักเท่ามะเดื่อแห้งหนึ่งผล เหล้าองุ่นไม่เกินหนึ่งถ้วย น้ำนมหนึ่งอึก น้ำจำนวนพอผสมยาป้ายตา กระดาษพอเขียนประกาศหนึ่งใบ หมึกพอเขียนอักษรสองตัว ต้นอ้อพอทำปากกาหนึ่งด้าม ฯลฯ  พวกเขาใช้เวลายาวนานเพื่อถกเถียงกันว่าในวันสับบาโตจะเคลื่อนตะเกียง จะอุ้มเด็กทารก จะใส่ฟันปลอม ขาเทียม เข็มกลัดผม หรือผมปลอมได้หรือไม่  หรือแม้แต่ช่างตัดเสื้อที่ลืมเข็มติดไว้กับเสื้อจะเป็นบาปหรือไม่ ?

ประการที่สอง งานคือ “การเขียน” การเขียนที่ถือว่าผิดคือ เขียนมากกว่าสองตัวอักษร ถ้าเกินสองตัวอักษรแต่เขียนด้วยวัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดรอยถาวรเช่น เขียนด้วยของเหลวสีดำ น้ำผลไม้ หรือเขียนบนฝุ่นหรือทราย เหล่านี้ไม่ถือว่าผิด  ถ้าเขียนบนกำแพงที่มีมุมติดกันหรือเขียนบนสมุดบัญชีสองหน้าชนิดที่ทำให้อ่านพร้อมกันได้ก็ถือว่าผิด แต่ถ้าต้องเดินไปดูกำแพงอีกด้านหรือพลิกสมุดไปอีกหน้าหนึ่งจึงจะอ่านได้ความ แบบนี้ถือว่าไม่ผิด
ประการที่สาม งานคือ “การรักษา” อนุญาตให้กระทำได้เมื่อมีอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเกิดกับหู คอ และจมูก แต่ทั้งนี้อนุญาตให้ทำได้เพียงเพื่อไม่ให้อาการเลวร้ายลงเท่านั้น ห้ามทำการใด ๆ เพื่อให้อาการนั้นดีขึ้น

นี่คือตัวอย่างอันน้อยนิดของผลงานของบรรดาธรรมาจารย์  ช้ำร้ายยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่าพวกฟารีสีซึ่งแปลว่า “ผู้ที่แยกตัวออกมา” พวกเขาเพียรพยายามจะปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านี้อย่างเคร่งครัดและครบถ้วนทุกกระบวบความ

ประมาณกลางศตวรรษที่ 3 ธรรมประเพณีเหล่านี้ได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เรียกว่า Mishnah มีความหนาประมาณ 800 หน้า และประมาณศตวรรษที่ 5 ก็มีผู้รวบรวมคำอธิบายกฎระเบียบต่าง ๆ ในหนังสือ Mishnah เป็นเล่มเรียกว่า Talmud

Talmud ของกรุงเยรูซาเล็มประกอบด้วยหนังสือ 12 เล่มพิมพ์  และ Talmud ของกรุงบาบิโลนประกอบด้วยหนังสือ 60 เล่มพิมพ์

แก่นแท้ของธรรมบัญญัติ
หลักการอันยิ่งใหญ่ประการหนึ่งคือ “มนุษย์ต้องพยายามแสวงหาน้ำพระทัยของพระเจ้าในทุกสิ่งทุกอย่าง และเมื่อพบแล้วเขาต้องทุ่มเทอุทิศตนตลอดชีวิตเพื่อปฏิบัติตามน้ำพระทัยนั้น”  พวกธรรมาจารย์และฟารีสีทำถูกที่พยายามแสวงหาน้ำพระทัยของพระเจ้า และยิ่งถูกเข้าไปใหญ่เมื่อพยายามอุทิศตนปฏิบัติตามน้ำพระทัยนั้น  แต่พวกเขาผิดที่ดันไปพบน้ำพระทัยในกฎระเบียบมากมายที่สร้างขึ้นด้วยน้ำมือของพวกเขาเอง
   
ถ้าเช่นนั้นอะไรคือแก่นแท้ของน้ำพระทัยของพระเจ้า ?  อะไรคือแก่นแท้ของธรรมบัญญัติ ?

เมื่อพิจารณาบัญญัติสิบประการอย่างใกล้ชิด เราจะพบว่าแก่นแท้ของธรรมบัญญัติทุกข้อสรุปได้เพียงคำเดียวคือ “เคารพ” (Respect)

เราต้องเคารพยำเกรงพระเจ้าและพระนามของพระองค์  เราต้องเคารพยำเกรงวันของพระเจ้า

เราต้องเคารพพ่อแม่  ชีวิต  ความเป็นบุคคลของตนเอง  ทรัพย์สิน  ความจริงและชื่อเสียงของผู้อื่น  และสุดท้ายเราต้องเคารพตัวเองเพื่อว่าความปรารถนาผิด ๆ จะได้ไม่เป็นนายเหนือเรา

กล่าวง่าย ๆ คือ เราต้องเคารพยำเกรง (Reverence) พระเจ้า และเคารพ (Respect) เพื่อนมนุษย์รวมถึงตัวเองด้วย

นี่คือแก่นแท้และเป็นพื้นฐานของธรรมบัญญัติตลอดจนกฎหมายทั้งปวง

เมื่อพระเยซูเจ้าทรงตรัสว่า “จงอย่าคิดว่าเรามาเพื่อลบล้างธรรมบัญญัติ แต่มาเพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์” พระองค์จึงต้องการบอกเราว่า ความเคารพยำเกรงและความเคารพที่เป็นพื้นฐานของบัญญัติสิบประการนั้นจะไม่มีวันสูญสิ้นไป



และพระองค์เสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ก็เพื่อแสดงให้เราเห็นว่า “ความเคารพยำเกรงต่อพระเจ้า และความเคารพต่อมนุษย์” ที่สมบูรณ์นั้นเป็นอย่างไร

พระเยซูเจ้าต้องการสอนอะไร ?
1.    อดีตและปัจจุบันมีความต่อเนื่องกัน
บางคนชอบตำหนิอดีตที่ผิดพลาดแล้วพยายามลืมหรือสลัดมันทิ้งไป  แต่ถ้าเราทำเช่นนี้ก็เท่ากับว่าเรากำลังต่อสู้กับอดีต และเมื่อเราต่อสู้กับอดีตเราก็จะไม่มีอนาคต !  เพราะปัจจุบันนั้นเติบโตมาจากอดีต และอนาคตก็เติบโตมาจากปัจจุบัน

นี่คือเหตุผลว่าทำไมพระเยซูเจ้าจึงมิได้ลบล้างธรรมบัญญัติในอดีตแม้แต่ตัวอักษรหรือจุดเดียว

ก่อนจะมีพระวรสารจำเป็นต้องมีธรรมบัญญัติก่อนเพื่อว่าเรามนุษย์จะได้สามารถแยกความแตกต่างระหว่างถูกกับผิด  รู้จักบาป  รู้จักความอ่อนแอ และเรียนรู้ว่าเราต้องการพระเจ้าพร้อมกับความช่วยเหลือของพระองค์

2.    การดำเนินชีวิตคริสตชนไม่ใช่เรื่องง่าย
บางคนอ้างว่าเมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมาก็เป็นอันสิ้นสุดของธรรมบัญญัติ ต่อจากนี้ไปเขาจะดำเนินชีวิตอย่างไรก็ได้

ไม่ใช่เลย !



เพราะพระเยซูเจ้าทรงเตือนเราว่า “ถ้าความชอบธรรมของท่านไม่ดีไปกว่าความชอบธรรมของบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีแล้วท่านจะเข้าอาณาจักรสวรรค์ไม่ได้เลย”

พวกธรรมาจารย์และฟาริสีดำเนินชีวิตโดยมีบทบัญญัติต่าง ๆ เป็นทั้งแรงผลักดันและเป็นทั้งแรงจูงใจ

แต่แรงผลักดันและแรงจูงใจของการดำเนินชีวิตแบบคริสตชนคือ “ความรัก”

พระเจ้าทรงรักมนุษย์จนยอมส่งพระบุตรแต่องค์เดียวมาช่วยให้มนุษย์พ้นบาป  มนุษย์จึงพยายามตอบแทนบุญคุณนี้ด้วยความรักเช่นกัน

เป็นไปได้ว่าเราอาจไม่เคยละเมิดกฎหมาย ไม่เคยถูกตำรวจจับ ซึ่งแปลได้ว่าเราอาจถือตามบทบัญญัติหรือกฎหมายต่าง ๆ ได้ครบ

แต่กับความรัก เราไม่อาจพูดได้เลยว่าเราแสดงความรักพอแล้ว.....

ถ้าเรารักใครสักคน ต่อให้เอาดวงจันทร์มาประเคนให้ได้ เราก็ยังรู้สึกว่าไม่พอ

นี่คือพันธะผูกพันอันยิ่งใหญ่ของความรักที่มีเหนือกฎหมายอันมีข้อจำกัด

ความชอบธรรมของเราจึงต้องดีกว่าความชอบธรรมของบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสี
kamsonbkk.com




วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558

จงรักศัตรู


จงรักศัตรู
มธ 5:43-48
(43)“ท่านทั้งหลายได้ยินคำกล่าวว่า จงรักเพื่อนบ้าน จงเกลียดศัตรู (44)แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า จงรักศัตรู จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียนท่าน (45)เพื่อท่านจะได้เป็นบุตรของพระบิดาเจ้าสวรรค์ พระองค์โปรดให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นเหนือคนดีและคนชั่ว โปรดให้ฝนตกเหนือคนชอบธรรมและคนอธรรม (46)ถ้าท่านรักแต่คนที่รักท่าน ท่านจะได้บำเหน็จรางวัลอะไรเล่า บรรดาคนเก็บภาษีมิได้ทำเช่นนี้ดอกหรือ (47)ถ้าท่านทักทายแต่พี่น้องของท่านเท่านั้น ท่านทำอะไรพิเศษเล่า คนต่างศาสนามิได้ทำเช่นนี้ดอกหรือ (48)ฉะนั้น ท่านจงเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ ดังที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่าน ทรงความดีอย่างสมบูรณ์เถิด

จงรักศัตรู

เป็นมาตรฐานใหม่
เป็นศูนย์กลางของบทเทศน์บนภูเขา (มธ 5-7)
เป็นสุดยอดบัญญัติเอก
(36)“พระอาจารย์ บทบัญญัติข้อใดเป็นเอกในธรรมบัญญัติ” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า  (37)“ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาของท่าน (38)นี่คือบทบัญญัติเอกและเป็นบทบัญญัติแรก  (39)บทบัญญัติประการที่สองก็เช่นเดียวกัน คือท่านต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง  (40)ธรรมบัญญัติและคำสอนของบรรดาประกาศกก็ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติสองประการนี้” (มธ 22:36-40)

รักมีหลายแบบ

ภาษากรีกมีคำว่า “รัก” 4 คำ
erōs  (เอรอส) เป็นความรักระหว่างชาย-หญิงที่มีกิเลสและเซ็กซ์รวมอยู่ด้วย
storgē  (สตอร์เก) เป็นความรักภายในครอบครัว เช่นพ่อแม่รักลูก  ลูกรักพ่อแม่
philia  (ฟีเลีย) เป็นความรักอันอบอุ่นที่มีต่อมิตรสหายและคนใกล้ชิดที่สุด
agapē  (อากาเป) เป็นความปรารถนาดีแบบไม่มีวันเสื่อมคลาย และไม่มีสิ่งใดสามารถทำลายได้

จง “รัก - อากาเป” ศัตรู

พระเยซูเจ้าไม่ได้สั่งให้เรารักศัตรูแบบเดียวกับรักพ่อแม่ ภรรยา ลูกหลาน หรือมิตรสหายของเรา
เรา “ตกหลุมรัก” ศัตรูไม่ได้
การรักศัตรูเป็นเรื่องของ “น้ำใจ” มากกว่า “หัวใจ”  เราต้องบังคับน้ำใจของเราให้เอาชนะสัญชาติญาณตามธรรมชาติ
เราสามารถบังคับน้ำใจของเราให้มีความเมตตาและความปรารถนาดีแบบไม่มีวันเสื่อมคลายและแบบไม่มีสิ่งใดทำลายได้  แม้ว่าเราจะไม่ชอบหน้าผู้นั้น หรือผู้นั้นจะไม่ชอบหน้าเราด้วยก็ตาม

แนวทางปฏิบัติ

ต้องระลึกว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อนอื่นใดหมด  ไม่ใช่เป็นเรื่องลอย ๆ ระดับชาติ
การรักศัตรูไม่ได้หมายความว่าปล่อยให้เขาทำตามใจชอบ  เราต้องพร้อมว่ากล่าวตักเตือน ยับยั้ง หรือลงโทษเพื่อให้เขาบรรลุความดีสูงสุด โดยมีความรักเป็นแรงจูงใจ
เนื่องจากเป็นคำสั่งสูงสุดของพระเยซูเจ้า จึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากพระองค์จึงจะปฏิบัติตามได้สำเร็จ
“จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียนท่าน” (มธ 5:44)

ทำไมต้องรักศัตรู

ทำให้เรา “เหมือน” พระเจ้าผู้ “โปรดให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นเหนือคนดีและคนชั่ว โปรดให้ฝนตกเหนือคนชอบธรรมและคนอธรรม” (มธ 5:45)
ทำให้เรา “เหมือน” พระเจ้าผู้ “ทรงความดีอย่างสมบูรณ์” (มธ 5:48)
พระเจ้าตรัสว่า “เราจงสร้างมนุษย์ขึ้นตามภาพลักษณ์ของเรา ให้มีความคล้ายคลึงกับเรา”  พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามภาพลักษณ์ของพระองค์ (ปฐก 1:26-27)

kamsonbkk.com


ข้อพระคัมภีร์ประจำวันและการอุทิศตน – โคโลสี 2:7

  ข้อพระคัมภีร์ประจำวันและการอุทิศตน – โคโลสี 2:7   จงหยั่งรากและก่อร่างสร้างขึ้นในพระองค์ จงมั่นคงในความเชื่อตามที่ได้รับการสอนมาแล้ว และ...