วันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2557

กำเนิดและวิวัฒนาการของนิกายที่สำคัญในศาสนาคริสต์

กำเนิดและวิวัฒนาการของนิกายที่สำคัญในศาสนาคริสต์

ในรัชสมัยของจักรพรรดิคอนสแตนติน (Constantine the Great) พระองค์ได้ตั้ง ราชธานีใหม่ในภาคตะวันออก แถบประเทศตุรกีในปัจจุบัน และได้พระราชทานนามราชธานีนี้ว่า "คอนสแตนติโนเปิล" (Constantinople) หรือโรมันตะวันออกซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรไบแซนทีน (Byzantine) อาณาจักรนี้มีความอิสระแยกออกจากโรมันตะวันตก ซึ่งมีโรม (Rome) เป็นศูนย์กลาง แต่เมื่อนานวันอาณาจักรโรมันตะวันออกมีความเข้มแข็งและเป็นอิสระในทุกด้าน จึงตีตนออกห่างและแยกการปกครองเป็นเอกเทศรวมไปถึงการปกครองทางศาสนา มีความเป็นอิสระจากกรุงโรม ไม่ยอมรับในพระราชอำนาจของพระสันตะปาปา จึงทำให้เกิดการแตกแยกออกเป็นนิกาย กล่าวคืออาณาจักรโรมันตะวันตกนั้นได้รับอิทธิพลคำสอนของปีเตอร์ ซึ่งเข้าไปมีส่วนผสมกลมกลืนกับบทบาททางสังคมและการเมือง ส่วนอาณาจักรโรมันตะวันออกได้รับอิทธิพลทาง วัฒนธรรมของเอเชีย จากจุดนี้เองทำให้ศาสนาคริสต์ต้องแยกออกเป็น หลายนิกาย คือ
นิกายโรมันคาทอลิก (Roman Catholic) อาจารย์เสฐียร พันธรังษี (2527 : 347) กล่าวว่า คำว่า "คาทอลิก" นี้แปลว่า "สากล" ได้แก่ ปฏิปทาของคนทั่วไป คริสตศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิก จึงไม่ถือว่าตนเองคือ นิกายหนึ่งของคริสตศาสนาแต่เป็นคริสตศาสนาที่สืบเนื่องมาจากต้นกำเนิด และถือว่าพวกตนเป็นผู้อนุรักษ์คำสั่งสอนที่ได้รับมาจากพระเยซูอย่างซื่อสัตย์ อีกทั้งเป็นผู้ปกป้องพระศาสนาให้เจริญก้าวหน้ามาโดยตลอด นิกายโรมันคาทอลิกมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่เปโตร ได้รับการสถาปนาจากพระเยซูให้เป็นผู้ดูแลพระศาสนจักร เราอาจกล่าวได้ว่า ท่านเป็นสันตะปาปาคนแรกที่ทุกคนต้องยอมรับนับถือและมีศรัทธาเชื่อฟังอย่างเดียวในฐานะที่เป็น "ผู้ดูแลฝูงแกะ" ของพระเจ้า ความคิดแบบนี้ได้สืบทอดกันต่อมา จนกระทั่งปัจจุบันนี้ พระสันตะปาปาจึงมิได้อยู่ในฐานะนักบวชเท่านั้น แต่เป็นประมุขสูงสุดของศาสนจักรที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามคำสั่ง นิกายโรมันคาทอลิกจึงเป็นนิกาย ที่มุ่งมั่นให้สัตบุรุษมีศรัทธา และปฏิบัติตามพระศาสนจักร เพราะพระศาสนจักรเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรแห่งสวรรค์ และเป็นองค์การที่สามารถนำประชาชนไปสู่การบรรลุเป้าหมายตามภาระกิจ ที่พระเจ้าได้มอบไว้
การเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทย คริสต์ศาสนาได้เข้ามาในยุคจักรวรรดินิยมของชาติมหาอำนาจที่ชอบล่าเมืองขึ้น อันเป็นการแผ่ขยายดินแดนและแสวงหาทรัพยากรให้กับประเทศของตน แต่การที่ชาติมหาอำนาจจะรุกรานไทยดังเช่นประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นไปได้ยาก เพราะประเทศไทยในสมัยนั้นมีความเจริญรุ่งเรืองมีกองทหารที่เข้มแข็ง และพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถมาก ทำให้ประเทศไทยพ้นจากความเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจ
ในบรรดานักล่าอาณานิคมรุ่นแรก ๆ ที่เดินทางเข้ามาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พวกโปรตุเกส สเปน เนเธอร์แลนด์ หรือพวกดั๊ช โดยเฉพาะพวกโปรตุเกสและสเปนนั้น นอกจากจะหาเมืองขึ้นแล้วยังนำเอาคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเข้ามาเผยแพร่ด้วย ทำให้ฟิลิปปินส์ และมาเก๊า ฯลฯ ยอมรับ นับถือคริสต์ศาสนา ต่อมาพวกฝรั่งเศสได้เข้ามาล่าอาณานิคมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เมืองขึ้น เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว และได้ปฏิบัติเช่นเดียวกับพวกโปรตุเกสและสเปน คือ ล่าเมืองขึ้นด้วยและเผยแพร่ศาสนาด้วย แต่ไม่ใคร่ประสบผลสำเร็จมากนัก ทำให้อิทธิพลของคริสต์ศาสนาในประเทศเหล่านี้มีน้อย ส่วนประเทศไทยนั้นแม้ได้รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น แต่ต้องใช้อิสระเสรีแก่พวกตะวันตกในการเผยแพร่ศาสนาได้ทำให้ความรุนแรงทางการเมืองลดน้อยลง คริสต์ศาสนาที่เข้ามาเผยแพร่ในไทยเป็นครั้งแรกตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชา ประมาณปี ค.ศ. 1584 นิกายแรกที่เข้ามาเผยแพร่ คือ นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งมีทั้งคณะโดมินิกัน (Dominican) คณะฟรันซิสกัน (Franciscan) และคณะเยซูอิต (Jesuit) บาทหลวงเหล่านี้ส่วนมากเป็นพวกโปรตุเกส เมื่อเผยแพร่ศาสนาไม่ใคร่สำเร็จจึงเอาใจใส่เฉพาะพวกของตน จวบจนกระทั่งในรัชสมัยของสมเด็จรพระนารายณ์มหาราช ประเทศไทยได้มีสัมพันธภาพอันดีกับประเทศฝรั่งเศสในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทำให้พวกบาทหลวงได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนา และมีบทบาทมากขึ้นจนถึงแก่ ตั้งโรงเรียนสำหรับสามเณรเพื่อผลิตนักบวชพื้นเมือง และมีการโปรดศีลบวชให้นักบวชไทยรุ่นแรก นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งโรงพยาบาล และจัดตั้ง คณะภคิณี คณะรักไม้กางเขน
อย่างไรก็ตามเมื่อสิ้นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้วคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิกกลับไม่ได้รับความสะดวกในการเผยแพร่ศาสนาดังที่เคยเป็นมาเพราะถูกจำกัดขอบเขต ถูกห้ามประกาศศาสนา ถูกห้ามเขียนหนังสือศาสนาเป็นภาษาไทย และภาษาบาลี ประกอบกับเมื่อพม่าเข้ามารุกรานประเทศไทย บาทหลวงถูกย่ำยี โบสถ์ถูกทำลาย พวกสอนศาสนาทั้งหลายจึงรีบหนีออกนอกประเทศ ในสมัยนี้คนไทยกำลังเผชิญชะตากรรมกับพวกพม่า จนในที่สุดพระเจ้าตากสินมหาราชได้กู้เอกราช ประเทศชาติกำลังอยู่ในภาวะสร้างเมือง การเผยแพร่ศาสนาไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เมื่อเปลี่ยนเป็นราชวงศ์จักรีแล้ว พวกคริสต์ได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นโดยเฉพาะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ให้อิสระในการนับถือศาสนาและทรงประเทศพระราชกฤษฎีกาให้ทุกคนมีสิทธิในการนับถือศาสนาใดก็ได้ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้นว่าสัมพันธภาพระหว่างไทยกับฝรั่งเศสไม่ดีนัก แต่ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงรับรองมิสซังโรมันคาทอลิกเป็นนิติบุคคล ในรัชสมัยนี้ได้เกิดโรงเรียนอัสสัมชัญขึ้นในปี ค.ศ.1877 และได้รับพระราชทาน เงินทุนในการก่อสร้างโรงเรียน ต่อมาก็มีโรงเรียนเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง คือ โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ โรงเรียนเซ็นต์ฟรังซิสซาเวียร์ และมีโรงเรียนพยาบาลเซนต์หลุยส์เกิดขึ้นในเวลาต่อมา
นิกายออร์ธอด็อกซ์ (Orthodox) ความเป็นมาสืบย้อนได้ถึงศตวรรษแรกในคริสต์ศาสนา อันเป็นช่วงระยะเวลาที่จักรวรรดิโรมันถูกแบ่งแยกออกเป็นสองอาณาจักร คือ โรมันตะวันตกมีศูนย์กลางที่กรุงโรม (Rome)ใช้ภาษาละตินเป็นภาษากลาง ส่วนโรมันตะวันออกซึ่งนิยมเรียกกันว่า ไบแซนทีน (Byzantine) มีศูนย์กลางที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) มีสหมิตรที่เป็นแนวร่วมเดียวกัน คือ เมืองอาเล็กซานเดรีย (Alexandria) อันติอ็อค (Antioch) และเยรูซาเล็ม (Jerusalem) ใช้ภาษากรีกเป็นภาษากลางสื่อสาร
แม้นว่ากรุงคอนสแตนติโนเปิล โดยทั่วไปเป็นของพวกเตอร์ก แต่ผู้นับถือนิกายออร์ธอด็อกซ์ยังคงมีอยู่บ้าง ส่วนมากแพร่หลายในแถบยุโรปตะวันออกและรัสเซีย ทำให้เกิดนิกายออร์ธอด็อกซ์แบบสลาฟ (Slavic Orthodox) และนิกายออร์ธอด็อกซ์แบบรัสเซีย (Russia Orthodox) ซึ่งแต่เดิมมาทั้งหมดนี้เคยเป็นแบบนิกายกรีก ออร์ธอด็อกซ์ (Greek Orthodox) โดยเฉพาะที่รัสเซียนั้น ศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากอาจเรียกได้ว่าเป็นอาณาจักรโรมันแห่งที่สาม มีศูนย์กลางที่มอสโคว์ (Moscow) อย่างไรก็ตาม พอสิ้นสุดระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช เข้าสู่ยุคการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ความรุ่งเรืองของศาสนาได้ลดลงไปแต่ยังไม่ถึงกับศูนย์สลาย
ปัจจุบันนี้ นิกายออร์ธอด็อกซ์มีอิสระภาพในด้านความเชื่อและการปกครองของตนเอง โดยไม่ต้องขึ้นต่อสำนักวาติกันของโรม มีปาตริอาร์ค เป็นประมุข แต่ก็มีออร์ธอด็อกซ์บางกลุ่มที่ยังขึ้นต่อสำนักวาติกันเรียกว่า ออร์ธอด็อกซ์คาธอลิค พวกนี้มีพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นแบบตะวันออกแต่ระบบการปกครองอยู่ภายใต้การชี้นำของสำนักวาติกัน ประเทศที่นับถือนิกาย ออร์ธอด็อกซ์ส่วนมากเป็นพวกยุโรปตะวันออก เช่น โรมาเนีย ฮังการี โปแลนด์ ยูโกสลาเวีย รัสเซีย ฯลฯ
สรุปได้ว่า นิกายออร์ธอด็อกซ์เป็นนิกายแรก ที่แยกตัวออกมาเป็นอิสระจากสำนัก วาติกันในกรุงโรม โดยมีสาเหตุใหญ่ที่สุดคือ การปฏิเสธในอำนาจของพระสันตะปาปา ประกอบกับ มีพื้นภูมิประเทศที่ห่างไกลจากอำนาจของโรมันตะวันตก จึงเป็นการง่ายที่จะตั้งตนเป็นอิสระ และปฏิบัติพิธีกรรมความเชื่อไปตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนผสมผสมผสานกับความเชื่อในคริสตศาสนา ดังนั้นนิกายออร์ธอด็อกซ์จึงมีลักษณะที่ค่อนข้างแปลกแยกจากพวกคาทอลิคและพวกโปรเตสแตนด์
อย่างไรก็ตาม ผู้นับถือนิกายออร์ธอด็อกซ์นี้มีศรัทธาที่เหนียวแน่นในศาสนามาก เราจะเห็นได้ว่า แม้นประเทศทางแถบยุโรปตะวันออกหลายประเทศ ได้เปลี่ยนการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์และประชาชนประเทศตุรกีเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม ผู้นับถือนิกายออร์ธอด็อกซ์หลายคนยังคงมีศรัทธาที่เหนียวแน่นและปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด ไม่ถูกหลอมเหลาได้ง่ายจาก สภาพแวดล้อมจวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ยังคงมีผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์ธอด็อกซ์ในบริเวณ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นจำนวนไม่น้อย ทั้ง ๆ ที่น่าจะถูกทำลายจนหมดสิ้นโดยผู้รุกราน
นิกายโปรเตสแตนด์ (Protestantism) นิกายนี้มีกำเนิดมาจากความคิดเห็นที่แตกแยกกันในเรื่องความเชื่อและชีวิต คริสตชน โดยเรียกพวกที่ไม่ใช่คาทอลิค หรือออร์ธอด็อกซ์ว่า "โปรเตสแตนด์" (Protestant) ซึ่งแปลว่า "ประท้วง" อาจารย์เสรี พงศ์พิศ (2531 : 71-74) ได้กล่าวถึงนิกายนี้ว่า เป็นกลุ่มที่แยกตัวออกมาจากพระศาสนจักร คาทอลิคประมาณศตวรรษที่ 14-15 โดยเริ่มจากกลุ่มใหญ่ที่มีการเคลื่อนไหวอย่าง ต่อเนื่อง กลุ่มเหล่านี้ มีอิทธิพลต่อนิกายเล็ก ๆ ในภายหลัง กลุ่มที่เป็นตัวเคลื่อนไหวนี้มี 3 กลุ่ม คือ
  • นิกายลูเธอรัน (Luthheran) 
    ผู้นำคนสำคัญ คือ มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1483 - 1546 เกิดที่แซกซอนมี (Saxony) ประเทศเยอรมันได้รับการศึกษาสูงจนจบปริญญาเอกและได้ศึกษาเทวศาสตร์เกิดสถาบันต่าง ๆ จากนั้นได้เข้าสู่ชีวิตนักบวชและแสวงบุญที่กรุงโรมทำให้เห็นสภาพต่าง ๆ ในศาสนจักร ต่อมาท่านได้ตีความพระคัมภีร์ไบเบิล และวิพากษ์วิจารณ์ปรัชญาศาสนาของยุคกลาง ความคิดเลยต่อเนื่องมาวิจารณ์พระศาสนจักรซึ่งในขณะนั้นมีการขายใบบุญกันมาก ความคิดของมาร์ติน ลูเธอร์ ได้รับการสนับสนุนจากมหาชนเยอรมันเป็นจำนวนมาก แล้วแพร่หลายออกไปทั่วยุโรป ทำให้พระสันตะปาปาไม่พอพระทัย มาร์ติน ลูเธอร์ รับหมายขับออกจากการเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร (excommunication) ในปี ค.ศ. 1521 ตรงจุดนี้ได้นำไปสู่การแตกแยกเป็นนิกายใหม่ในเวลาต่อมา ชีวิตของลูเธอร์ในระยะนี้ต้องหลบลี้ตลอดเวลา แต่ก็ทำให้ท่านมีเวลาแปลพันธสัญญาใหม่เป็นภาษาเยอรมัน และได้เขียนเกี่ยวกับพิธีกรรมรวมทั้งศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นภาษาเยอรมัน เพื่อให้ชาวบ้านและคนทั่วไปสามารถเข้าใจหลักคำสอนและพิธีกรรม ซึ่งแต่เดิมมาเขียนเป็นภาษาละติน จึงยากแก่การสื่อความหมายให้เข้าถึงได้ จึงรู้ได้เฉพาะปัญญาชน นักบวชและ นักศาสนาเท่านั้น ผลงานของลูเธอร์นี้ได้สร้างคุณประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่รู้หนังสือละตินได้มีโอกาสเข้าใจแก่นแท้ของศาสนาได้ด้วยตนเอง ซึ่งตรงกับจุดประสงค์ของลูเธอร์ที่ต้องการให้บุคคลสามารถ รับผิดชอบในความเชื่อของตน โดยไม่ต้องอาศัยบุคคลที่ 3 เช่น พระหรือนักบวช กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในศาสนาเป็นเพียงสิ่งเปลือกนอกที่ไม่สำคัญเท่ากับการที่บุคคลนั้นได้เผชิญหน้าต่อพระพักตร์พระเจ้าด้วยตนเอง นิกายนี้จึงได้ตัดประเพณี พิธีกรรม ตลอดจนศีลศักดิ์สิทธิ์บางเรื่องออกไปเหลือแต่ศีลล้างบาปและศีลมหาสนิท และสนับสนุนให้บุคคลเอาใจใส่ต่อพระคัมภีร์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระวจนะของพระเจ้า ที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงความรอดส่วนบุคคลภายในโบสถ์ของโปรเตสแตนต์จึงไม่มีรูปเคารพและศิลปกรรมที่ตกแต่งดังเช่นโบสถ์คาทอลิค บนแท่นบูชามีเพียงพระคัมภีร์เท่านั้นที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ส่วนอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากนี้เป็นเพียงเปลือกนอกที่มาจากตัณหาของมนุษย์ และทำให้เราเกิดความยึดถือยึดติดไม่สามารถเข้าถึงพระเจ้าได้
  • กลุ่มคริสตจักรฟื้นฟู (Reformed Christianity) 
    ผู้นำคนสำคัญที่มีความเคลื่อนไหวมากได้แก่ สวิงลี (Ulrich Zwingli) และคาลวิน
    อูลริช สวิงลี (Ulrich Zwingli) 
    เกิดที่สวิสเซอร์แลนด์ มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1848 - 1531 ได้รับแนวความคิดจากลูเธอร์ และปรัชญามนุษยนิยม (Humanism) อูลริชไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่าพิธีล้างบาป และพิธีศีลมหาสนิท เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นเพียงความเชื่อภายนอก เท่านั้น หาใช่ความเชื่อในพระเจ้าอย่างแท้จริง เพราะพิธีล้างบาปก็คือการปฏิญาณตน และพิธีศีล มหาสนิทหรือมิสซาก็คือการระลึกถึงวันเลี้ยงมื้อสุดท้ายของพระเยซูเท่านั้น พิธีเหล่านี้ไม่ใช่พิธีที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวของมันเองดังที่เชื่อกันในสมัยนั้น จนทำให้คนส่วนมากละเลยที่จะศึกษา พระวจนะ เขาได้ปรับพิธีกรรมให้เรียบง่าย และเน้นที่แก่นแท้ของคำสอน
    นิกายคาลวิน (Calvinism) 
    ผู้ริเริ่มและบุกเบิกนิกายนี้ คือ จอห์น คาลวิน (John Calvin) หรือคาลแวงเป็นชาวฝรั่งเศส ได้รับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยปารีส ต่อมาได้สนใจ แนวคิดทางศาสนาของลูเธอร์และสวิงลี จึงได้รับคำสอนเหล่านั้นมาปรับปรุง คำสอนของเขาแพร่หลายเข้าไปถึงประเทศอังกฤษ ซึ่งเรียกว่า เปรสไบทีเรียน (Presbyterian) คาลวินมีอิทธิพลในกรุงเจนีวา เขาถูกเชิญไปที่นั่นหลายครั้งจนกระทั่งได้อาศัยอยู่ที่เจนีวา จนสิ้นใจในปี ค.ศ. 1564 ผลงานที่สำคัญ คือ หนังสือศาสนาที่ต่อมาได้กลายเป็นหลักเทวศาสตร์ของโปรเตสแตนต์ ชื่อ "สถาบันทางศาสนาคริสต์" (The Institutes of the Christian Religion) แต่เดิมเขียนเป็นภาษาละตินแต่ถูกแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสในเวลาต่อมา และถูกพิมพ์ถึง4 ครั้ง ในช่วงที่คาลวินมีชีวิตอยู่ หนังสือเล่มนี้ช่วยให้เราสามารถเข้าใจศรัทธาของชาวคริสต์ คำสอนของนักบุญออกัสติน (St.Augustin) อีกทั้งทำให้เราเข้าใจอำนาจของพระเจ้า เข้าใจในเรื่องบาปกำเนิด และชะตาที่ถูกลิขิตโดยพระเจ้า นอกจากนี้คาลวินได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเจนีวา และทำให้กรุงเจนีวาเป็นศูนย์นัดพบของชาวโปรเตสแตนต์ทั่วยุโรป
นิกายเชิร์ช ออฟ อิงแลนด์ (Church of England) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "แองกลิคัน" (Anglicanism) มีกำเนิดในประเทศอังกฤษ โดยมีสาเหตุมาจากพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ต้องการให้พระสันตะปาปาที่กรุงโรมอนุญาตให้หย่าร้าง และอภิเษกสมรสใหม่ แต่ได้รับการปฏิเสธจากพระสันตะปาปา จึงไม่พอพระทัยประกาศตั้งนิกายใหม่ที่เรียกว่า เชิร์ช ออฟอิงแลนด์ (Church of England) ไม่ขึ้นต่อกรุงโรม และทรงแต่งตั้ง โธมัส แคลนเมอร์ (Thomas Cranmer) เป็นอาร์คบิชอป (Archbishop) แห่งแคนเทอเบอรี่ (Canterbury)


นิกายต่าง ๆ ในโปรเตสแตนด์ 
กลุ่มฟื้นฟูศาสนาตามที่กล่าวมาในตอนต้นนี้ทั้ง 3 กลุ่ม ได้ทำได้เกิดนิกายเล็ก ๆ ต่อมา ซึ่งล้วนแต่รับโครงสร้างของโปรเตสแตนต์ ในที่นี้จะกล่าวถึงบางกลุ่มและบางนิกายเท่านั้น คือ
  • นิกายเพรสไบทีเรียน (Presbyterian) 
    เป็นกลุ่มที่ต้องการจัดระบบการปกครองของพระเจ้าให้เป็นระเบียบแบบแผนและให้คงที่ตามหลักของลูเธอร์ โดยมีบิชอปเป็นประธาน ความเชื่อของนิกายนี้มุ่งเน้นศรัทธา เพราะถือว่าพรของพระเจ้าสามารถปลดเปลื้องทุกข์ของมนุษย์ได้ ไม่ใช่พระ พระเป็นเพียงผู้ทำพิธีกรรมเท่านั้น
  • นิกายเมธอดิสต์ (Methodism) 
    เกิดขึ้นโดยจอห์น เวสลีย์ (John Wesley : ค.ศ. 1703 - 1791) เป็นชาวอังกฤษที่มีจุดประสงค์ต้องการให้ผู้นับถือพระเจ้ามีอิสระภาพมากขึ้น สามารถปฏิบัติศาสนาไปตามหลักของเหตุผลให้เหมาะแก่ชีวิตของตน
  • นิกายเซเวนเดย์ แอดเวนติสต์ (Seven Day Adventists) 
    เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของกลุ่มแอดแวนติสต์ นิกายนี้เน้นวันสุดท้ายของโลก และการเสด็จมาของพระคริสต์ในวันพิพากษาโลกเพื่อทำนี้บริสุทธิ์อีกครั้งสมาชิกผู้นับถือมีทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศไทยนั้น นิกายนี้ได้ส่งศาสนฑูตเข้ามาเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1918 ศาสนทูตหลายท่านมีส่วนสร้างความเจริญให้แก่ประเทศไทย เช่น ตั้งโรงเรียน ตั้งสุขศาลา และโรงพยาบาล โรงพยาบาลซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี คือ โรงพยาบาลมิชชัน ที่สะพานขาว เมื่องานพยาบาลเจริญก้าวหน้าถึงกับต้องขยายเปิดโรงเรียนพยาบาล
  • นิกายเควกเกอร์ (Quaker) 
    หรือสมาคมมิตรภาพ (Society of Friends) เป็นนิกายที่เกิดในอังกฤษ โดยยอร์ช ฟอกซ์ (George Fox : 1624 - 1691) แต่แพร่หลายในอเมริกาโดย วิลเลี่ยม เพน (William Penn : 1644-1718) โดยเฉพาะในรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) เป็นดินแดนแห่งแรกที่เพน ได้มาตั้งรกรากและทำการเผยแพร่ศาสนา นิกายนี้ต้องการรื้อฟื้นศาสนาคริสต์แบบดั้งเดิม จึงเน้นประสบการณ์ตรงในการเข้าถึงพระเจ้าโดยใช้แสงสว่างที่เกิดขึ้นภายใน (inner light)
  • นิกายพยานพระยะโฮวา (Jehovah's Witnesses) 
    นิกายนี้เกิดจากการรวมกลุ่มของพวกโปรแตนแตนต์ที่ต้องการปฏิรูปคำสอนให้เป็นไปในแบบเดิม โดยเฉพาะแบบอย่างในการนมัสการพระเจ้า คือ พระยะโฮวา ทั้งนี้เพราะพวกโปรเตสแตนต์ส่วนมากได้แตกกลุ่มออกไปเป็นหลายพวก เพราะความสับสนในคำสอน และความไม่ชัดแจ้งของหลักคำสอน ชาร์ล รัสเซลล์ (Charles Russell)ซึ่งเป็นชาวอเมริกันได้ริเริ่มตั้งนิกายนี้ขึ้นมาโดยเริ่มแรกมีการรวมกลุ่มกันที่มลรัฐเพนซิลเวเนีย และขยายตัวออกไปทั่ว มีผู้สนใจกันมากโดยเฉพาะชนชั้นกรรมกรและคนชั้นกลางถึงกับมีการตั้งสมาคมเผยแผ่ลัทธิที่เรียกว่า "หอสังเกตการณ์" (Watch Tower) และมีการพิมพ์หนังสือออกเผยแพร่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
  • นิกายมอร์มอน (Mormonism) 
    หรือศาสนาจักรของพระเยซูคริสต์แห่งสิทธิชนยุคสุดท้าย (The Church of Jesus Christ of Latter-Day Saints) ผู้ก่อตั้งคือ โจเซฟ สมิธ (Joseph Smith) ผู้เติบโตท่ามกลางบรรยากาศทางศาสนาแบบกลุ่มฟื้นฟูชีวิต (Revivalists) ในนิวยอร์ค (New York) หลักคำสอนของศาสนาเหมือนคำสอนทั่ว ๆ ไปของศาสนาคริสต์ เพียงแต่เพิ่มความเชื่อในคัมภีร์มอร์มอน (Book of Mormon) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับมาจากมอร์มอน และเชื่อกันว่าคัมภีร์นี้เป็นพระวจนะของพระเจ้าเดิมจารึกในภาษาโบราณ
การเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ในประเทศไทย
คณะเผยแพร่ของนิกายโปรเตสแตนต์ที่ได้เข้ามาประเทศไทย ได้แก่ พวกมิชชันนารี 2 คน คือ ศาสนาจารย์ของเนเธอร์แลนด์ มิชชันนารี (Netherland Missionary Society) คาร์ล ออกัสตัส เฟรดเดอริค กุตสลาฟ เอ็ม.ดี (Rev. Carl Frildrich Augustus Gutzlaff) ชาวเยอรมัน และศาสนาจารย์ จาคอบทอมลิน (Rev. Jacob Tomlin) ชาวอังกฤษมาจากลอนดอน มิชชันนารี (London Missionary Society) มาถึงประเทศไทย วันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1828 ทั้งสองท่านได้ช่วยกันเผยแพร่ศาสนาด้วยความเข้มแข็ง ต่อมาได้มีศาสนาจารย์ท่านอื่น ๆ ซึ่งเป็นพวกอเมริกันบอร์ดได้เข้ามาเผยแพร่อีก ในบรรดานักเผยแพร่ศาสนานั้น ผู้เริ่มต้นสัมพันธภาพที่ดีและยาวนานที่สุดระหว่างคนไทยกับศาสนาคริสต์ คือ ศาสนาจารย์แดน บีช บรัดเลย์ เอ็ม.ดี (Rev. Dan Beach Bradley, M.D.) ซึ่งเป็นเพรสไบทีเรียนในคณะอเมริกันบอร์ด (The American Board of Commissioners for Fcreign Missions) หรือ A.B.C.F.M ท่านได้เข้ามากรุงเทพฯ พร้อมภรรยา เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1835 ตลอดเวลาที่ท่านอาศัยอยู่ในเมืองไทยนั้นท่านได้สร้างคุณประโยชน์อย่างมหาศาลในการรักษาพยาบาลคนไข้ไทย และคนจีนที่ป่วยด้วยโรคไข้ทรพิษและอหิวาตกโรค การผ่าตัดช่วยชีวิตผู้คนในสมัยนั้น จากการระเบิดของปืนใหญ่ ซึ่งนับว่าเป็นการผ่าตัดครั้งแรกในไทยที่ประสพผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยม การทดลองปลูกฝีดาษในประเทศไทยซึ่งประสพผลสำเร็จมากทำให้คนไทยรอดตายจากโรคนี้หลายคน นอกจากนี้ยังริเริ่มการสร้างโรงพิมพ์และจัดพิมพ์ใบประกาศห้ามฝิ่นเป็นเรื่องแรก โดยพิมพ์ทั้งหมด 9,000 ฉบับ จากนั้นได้จัดพิมพ์หนังสือชื่อ "บางกอกกาลันเดอร์" ซึ่งเป็นบันทึกรายวันที่ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และวรรณคดีไทยที่ปรากฏเป็นเล่ม (McFarland. 1928 : 10 - 26)
นอกจากพวกสมาคมอเมริกันมิชชันนารีจะนำความเจริญมาให้ประเทศไทยควบคู่ไปกับการเผยแพร่ศาสนาแล้ว ยังมีนักเผยแพร่ศาสนากลุ่มอื่น ๆ อีก เช่น กลุ่มอเมริกันแบพติสมิชชัน (The American Baptist Mission) ซึ่งเป็นพวกที่สร้างคริสตจักรโปรเตสแตนต์แห่งแรกในกรุงเทพฯ ประมาณกลางปี ค.ศ. 1837 และได้จัดพิมพ์หนังสือภาษาไทยและภาษาอังกฤษรวมทั้งออก หนังสือพิมพ์ "สยามสมัย" (McFarland.1928 : 27-34)
กลุ่มเพรสไบทีเรียนอเมริกัน (The American Presbyterian Board) เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่สร้างความเจริญให้กับประเทศไทยไม่น้อยไปกว่ากลุ่มอื่น ๆ เช่น ดร.เฮ้าส์ (Samuel R.House) ซึ่งเป็นแพทย์ผ่าตัดคนแรกในประเทศไทยที่ใช้อีเทอร์เป็นยาสลบ และเป็นแพทย์ผู้ช่วยชีวิตคนไทยจากโรคอหิวาต์ นายและนางแมตตูน (Rev. and Mrs. Stephen Mattoon) เป็นผู้ที่มีความสำคัญอีกเช่นกัน เพราะเป็นผู้ริเริ่มเปิดโรงเรียนแบบเช้าไปเย็นกลับ ซึ่งต่อมาโรงเรียนนี้ได้ร่วมกับโรงเรียนประจำของมิชชัน และได้พัฒนามาเป็นโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในปัจจุบัน

baanjomyut.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ข้อพระคัมภีร์ประจำวันและการอุทิศตน – โคโลสี 2:7

  ข้อพระคัมภีร์ประจำวันและการอุทิศตน – โคโลสี 2:7   จงหยั่งรากและก่อร่างสร้างขึ้นในพระองค์ จงมั่นคงในความเชื่อตามที่ได้รับการสอนมาแล้ว และ...