การประกาศข่าวดีเป็นหน้าที่ของเรา แต่การเกิดผลและปาฏิหารย์เป็นงานของพระเจ้า ฉะนั้น จงสัตย์ซื่อในหน้าที่ของตน แล้วจงวางใจ ยิ่งเรารับใช้ ยิ่งทำให้ความเชื่อของพวกเราเติบโตยิ่งขึ้น เราจึงรู้ว่า "โดยความเชื่อ ทุกสิ่งเป็นไปได้จริงๆ" ในชีวิตของตัวข้าพเจ้าเอง มีเรื่องราวอัศจรรย์เกิดขึ้นมากมาย การได้มีเวลาอ่าน ฟังและทำความเข้าใจ พระธรรมคำสอนในพระคัมภีร์นับว่าเป็นพรประเสริฐ นี่จึงเป็นที่มาของความตั้งใจในการทำเพจขึ้นมาเพื่อแบ่งปันเรื่องราวและประกาศข่าวดีของพระองค์ ขอขอบคุณทุกๆที่มาของบทความหนุนใจ
วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2557
หลักความเชื่อของนิกายโรมันคาทอลิก
หลักความเชื่อของนิกายโรมันคาทอลิก
นิกายโรมันคาทอลิกยึดถือหลักความเชื่อดั้งเดิม 6 ประการ ดังกล่าวและเน้นในข้อเพิ่มเติมต่อไปนี้
1. พระผู้เป็นเจ้ามีแต่เพียงพระเป็นเจ้าเดียว มีธรรมชาติเป็นแต่เพียงหนึ่งเดียว แต่ในพระเป็นเจ้าเดียวนั้น มีสามพระบุคคล คือ พระบิดา พระบุตร และพระจิต และสามพระบุคคลนี้รวมกันเรียกว่า ตรีเอกานุภาพ (Trinity) บางท่านแปลว่าตรีเอกภาพตรี แปลว่า สาม เอก แปลว่า หนึ่ง จึงแปลรวมกันว่า สามพระบุคคลในพระเจ้าเดียวกัน
2. พระเยซูคริสต์ทรงมี 2 สภาวะ คือ ทรงเป็นพระเจ้าแท้ และเป็นมนุษย์แท้ พระเยซูได้เสด็จลงมาจากสวรรค์มารับเอาธรรมชาติมนุษย์ เพื่อทรงไถ่บาปแทนมนุษย์ด้วยการยอมรับการทรมาน และสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน สามวันหลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์ พระองค์ได้ฟื้นขึ้นและประทับอยู่กับสาวกเป็นเวลา 40 วัน เมื่อครบ 40 วันแล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จขึ้นสวรรค์
3. ยกย่องพระนางมารีย์ (หรือมาเรียหรือมารีอา) เป็นพระมารดาของพระเจ้า เรียกโดยทั่วไปว่าแม่พระ และถือว่าก่อนที่พระเยซูจะเสด็จขึ้นสวรรค์ได้ทรงสถาปนาพระนาง ให้เป็นแม่พระของคริสต์ศาสนิกชนทุกคน พระนางได้ถูกยกขึ้นสวรรค์ทั้งร่างไปรับมงกุฎ เป็นพระราชินีแห่งเทพเทวาและนักบุญทั้งหลายในสวรรค์ ทรงเป็นคนกลางระหว่างพระเจ้ากับคริสต์ศาสนิกชน ชาวคาทอลิกเชื่อว่าการสวดขอพรต่อแม่พระ ให้พระนางช่วยเสนอขอพระพรจากพระเป็นเจ้าจะได้รับผล
4. ยกย่องโยเซฟ (บิดาเลี้ยงของพระเยซู) เป็นนักบุญ และยกย่องนับถือสหพันธ์นักบุญ (Communion of Saints) คำว่านักบุญ (Saint หรือ St.) เป็นคำใช้ในคริสต์ศาสนา สำหรับบุคคลที่กระทำความดีพิเศษในศาสนา เช่น ได้เสียสละชีวิตให้แก่ศาสนา เสียสละความสุขช่วยเหลือคนจำนวนมาก บุคคลที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นนักบุญ จะต้องเป็นผู้ที่คณะสงฆ์ที่โรมประกาศว่าเป็นเซนต์ และกว่าจะได้รับการประกาศยกย่องเช่นนั้น ก็มักจะเป็นเวลาล่วงไปหลายสิบปี หรือถึงร้อยปีหลังจากบุคคลนั้นสิ้นชีวิตไปแล้ว ชาวคาทอลิกเชื่อว่านักบุญเป็นที่รักของพระเยซูเจ้า เมื่อเราไปสวดภาวนาขอต่อนักบุญก็เท่ากับเราไปขอให้ท่านช่วยเสนอต่อพระเป็นเจ้าอีกทีหนึ่ง ให้ประทานพระคุณแก่เรา แทนที่เราจะสวดขอต่อพระเป็นเจ้าโดยตรง
5. เชื่อในเรื่องแดนชำระ คาทอลิกเชื่อว่าเมื่อคนตาย ขณะที่สิ้นชีวิต วิญญาณจะถูกพิพากษาเป็นรายบุคคลไป ผู้ที่ทำบาปหนักวิญญาณก็ไปนรก ผู้ที่บริสุทธิ์หรือได้ใช้บาปหมดแล้วก็ไปสวรรค์ ส่วนวิญญาณของผู้ที่ไม่มีบาปหนัก แต่ก็ไม่บริสุทธิ์ จะไปสู่สถานที่สำหรับชำระวิญญาณเรียกว่า "แดนชำระ" ก่อน คือยังไม่ไปสู่นรกหรือสวรรค์ วิญญาณจะไปสู่สถานที่นี้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะชดใช้โทษบาปหมดแล้ว จึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าสวรรค์ได้
6. ชาวคาทอลิกถือว่าพระสันตะปาปา ผู้ดำรงตำแหน่งประมุขของคริสต์ศาสนิกชนประจำอยู่ที่กรุงโรม เป็นผู้รับทายาทสืบต่อจากเซนต์ปีเตอร์ (เปโตร) อัครสาวกของพระเยซู เพื่อปกครองคริสต์ชนในมนุษย์โลกแทนองค์พระเยซู เพราะพระเยซูประทานอำนาจนี้ไว้แก่อัครสาวกเปโตร อำนาจนี้สืบทอดกันมาทางสายพระสังฆราชแห่งโรม ดังนั้นจึงถือว่าพระสันตะปาปาเป็นประมุขของพระศาสนจักรคาทอลิก พระองค์ไม่รู้จักผิดพลั้ง (infalliable) หมายความว่า คำสั่งสอนของพระสันตะปาปาในตำแหน่งหน้าที่ประมุขของศาสนาจะผิดพลั้งไม่ได้ เฉพาะเรื่องที่เน้นการใช้อำนาจนี้เป็นครั้งๆ ไป
7. พิธีกรรมทางศาสนาที่สำคัญ เรียกว่า พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ 7 ประการ (Sacraments) ซึ่งนิกายโรมันคาทอลิกปฏิบัติอยู่ คือ
1. ศีลล้างบาป
2. ศีลกำลัง
3. ศีลมหาสนิท
4. ศีลแก้บาป
5. ศีลเจิมคนไข้
6. ศีลบรรพชา
7. ศีลกล่าว
คำว่าศีล ในที่นี้ไม่ตรงกับคำว่าศีลในทางพระพุทธศาสนา เพราะศีลในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง ข้อห้ามที่จะต้องสมาทาน (รับศีล) และปฏิบัติตลอดกาล แต่ศีลในพิธีกรรมของคริสต์ศาสนาหลายอย่างทำเพียงครั้งเดียวเท่านั้น จึงจะใช้คำว่า พิธีศีลหรือพิธีแทนคำว่าศีลโดยอนุโลม
พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ 7 ประการนี้ คริสต์จักรที่สังกัดในสภา คริสต์จักรในประเทศไทย (นิกายโปรเตสแตนท์) มีพิธีศีล 2 อย่างเท่านั้น คือ
1. ศีลบัพติศมา หรือพิธีรับพันธสัญญา
2. ศีลมหาสนิท หรือพิธีฟื้นพันธสัญญา
นอกนั้นถือว่า เป็นพิธีไม่ใช่ศีลศักดิ์สิทธิ์ เช่น พิธีสมรส พิธีศพ พิธีถวายบุตร
พิธีศีล 7 ประการ มีคำอธิบายดังนี้
1. พิธีศีลล้างบาป (Baptism)
พิธีศีลนี้นิกายคาทอลิก เรียกว่า พิธีศีลล้างบาป นิกายโปรเตสแตนท์ เรียกว่า พิธีบัพติศมา ตามรากศัพท์ภาษาละตินว่า baptisma ซึ่งแปลว่า การชำระล้างบาป
พิธีศีลล้างบาป เป็นพิธีศาสนาที่มีการจุ่มตัวลงในน้ำหรือประพรมด้วยน้ำ เป็นการชำระล้างบาปทางจิตใจ ผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปแล้วเป็นผู้บริสุทธิ์จากบาปกำเนิดอันสืบทอดมาจากบาปของอาดัมและเอวา บรรพบุรุษคู่แรกของมนุษย์
พิธีศีลล้างบาปนี้มีมาตั้งแต่สมัยคริสต์กาล ก่อนที่พระเยซู จะออกประกาศศาสนา ทรงรับศีลล้างบาปจาก ยอห์น ผู้ให้ศีลจุ่มที่แม่น้ำจอร์แดน การล้างบาปด้วยวิธีนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะผู้ที่ล้างบาปบริสุทธิ์แล้วเท่านั้น จึงคู่ควรแก่อาณาจักรของพระเจ้า มีคำสอนของพระเยซู ตอนหนึ่งว่า "เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ถ้าผู้ใดไม่ได้บังเกิดใหม่จากน้ำและพระวิญญาณ ผู้นั้นจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้าไม่ได้"
พิธีรับศีลล้างบาปของนิกายโรมันคาทอลิกปัจจุบัน ไม่จุ่มตัวในน้ำ ใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์เทบนศีรษะ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการล้างบาป บาทหลวงเป็นผู้โปรดศีลโดยเทน้ำบนศีรษะของผู้รับ พลางกล่าวในขณะเทน้ำนั้นว่า "ฉันล้างเจ้า, เดชะพระนามพระบิดา พระบุตรและพระจิต"
พิธีรับศีลบัพติศมาของนิกายโปรเตสแตนท์ ใช้แบบพิธีเจิมศีรษะด้วยน้ำ หรือ ประกอบพิธีในน้ำ โดยให้ผู้รับศีลลงไปในบ่อสำหรับประกอบพิธี แล้วจุ่มตัวลงในน้ำจนมิดศีรษะ ผู้ประกอบพิธีกล่าวว่า "ข้าพเจ้าให้ท่านรับบัพติศมาในพระนามของพระบิดา พระบุตร พระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านได้เข้าส่วนในพันธสัญญาของพระเจ้าแล้ว อาเมน"
ศีลล้างบาป เป็นศีลที่สำคัญที่สุด คนหนึ่งคนใดจะเข้าอยู่ในพระศาสนจักรได้ก็โดยอาศัยศีลล้างบาป เมืองรับศีลล้างบาปแล้วจึงจะมีสิทธิ์รับศีลอื่นๆ ต่อไปได้และเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรอย่างสมบูรณ์ ศีลล้างบาปเพียงหนเดียว ไม่ต้องมีการรับซ้ำอีก
2. พิธีศีลกำลัง (Confirmation)
พิธีศีลกำลัง เป็นพิธีกระทำอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ได้รับศีลล้างบาปแล้ว เพื่อเป็นการยืนยัน (Confirm) ว่าตนยอมรับนับถือคริสต์ศาสนาจริงๆ เมื่อได้รับศีลล้างบาปแล้ว จะรับศีลกำลังเมื่อไรก็ได้ แต่ธรรมดามักจะรับกันเมื่อมีอายุตั้งแต่ 7 ขวบขึ้นไป ผู้ที่จะโปรดศีลกำลังได้จ้องเป็นพระที่มียศเป็น บิชอบ (Bishop) ในประเทศไทยเรียกกันว่าสังฆราช
3. พิธีศีลมหาสนิท (Communion)
พิธีศีลมหาสนิท ภาษาอังกฤษเรียกว่า Communion หรือ Holy Communion แปลว่า การอยู่ร่วมกัน หมายถึง การอยู่ร่วมกันกับพระเจ้า พิธีนี้มีความหมายเพื่อที่จะให้เลือดเนื้อของเราทั้งหลายกับเลือดเนื้อของพระเยซูได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
พิธีศีลมหาสนิทครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อพระเยซูและอัครสาวกรับประทานอาหารร่วมกันเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่พระเยซูจะถูกจับกุม ระหว่างที่ทุกคนกำลังรับประทานอาหารอยู่นั้น พระเยซูทรงหยิบขนมปังมาก้อนหนึ่ง ทรงอธิษฐานขอพรจากพระเจ้าแล้วบิออกเป็นชิ้นๆ ส่งให้สาวกทุกๆ คน พลางตรัสว่า "จงกินเสียเถิด นี่คือร่างกายของเรา" ครั้นแล้วพระองค์จึงหยิบจอกน้ำองุ่นขึ้นมาขอบพระคุณพระเจ้า แล้วส่งให้สาวกเหล่านั้นพลางตรัสว่า "จงรับไปดื่มทุกคนเถิด ด้วยว่านี้เป็นโลหิตของเรา อันเป็นโลหิตแห่งพันธสัญญา ซึ่งต้องหลั่งออกเพื่อยกบาปโทษคนเป็นอันมาก"
พิธีศีลมหาสนิทนี้ พวกโรมันคาทอลิกถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดของพิธีมิสซา คือ พิธีระลึกึงวันที่ พระเยซูเสวยพระกระยาหารครั้งสุดท้ายร่วมกับอัครสาวก พิธีเริ่มต้นด้วยการภาวนาและการอ่านพระคัมภีร์ ต่อมานั้นบาทหลวงจะทำพิธีเสกขนมปังและเหล้าองุ่นให้เปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซู แล้วบาทหลวงแจกขนมปังให้แก่ชาวคริสต์ผู้เข้าร่วมพิธีทั่วทุกคนรับประทาน เฉพาะบาทหลวงผู้ประกอบพิธีจะดื่มเหล้าองุ่นที่เสกเป็นพระโลหิตของพระเยซูด้วย ผู้ร่วมพิธีอาจจะดื่มเหล้าองุ่นด้วยในโอกาสพิเศษ เช่น ในวันสมรส
พระบัญญัติของศาสนจักรคาทอลิก ทุกคนต้องรับศีลมหาสนิทอย่างน้อยปีละครั้ง นอกจากนั้นพระศาสนจักรยังเชื้อเชิญและเร่งเร้าทุกคนให้รับศีลมหาสนิททุกอาทิตย์หรือทุกวันได้ก็ยิ่งดี
คริสตจักรในประเทศไทย (โปรเตสแตนท์) แนะนำว่า การที่จะถือศีลมหาสนิทบ่อยครั้งเพียงใดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะธรรมกิจคริสตจักรประจำตำบล อาจเป็นทุกอาทิตย์ หรืออาทิตย์ต้นเดือน แต่ไม่ควรต่ำกว่า 4 ครั้งใน 1 ปี
4. พิธีศีลแก้บาป (Penance)
เมื่อพวกคาทอลิกได้ทำบาปหลังจากที่ได้รับศีลล้างบาปแล้ว ประสงค์จะได้รับการอภัยบาป ต้องไปสารภาพบาปนั้นต่อบาทหลวง พระบัญญัติของพระศาสนจักรมีบ่งว่า คาทอลิกทุกคนที่ถึงอายุรู้ความแล้ว พึงแก้บาปอย่างถูกต้องอย่างน้อยปีละครั้ง
ในวัดคาทอลิกทุกแห่ง เขามีที่พิเศษไว้ให้ชาวคาทอลิกไปแก้บาปกับบาทหลวง เรียกว่าที่บาป บาทหลวงและผู้ที่ไปแก้บาปจะถูกแยกโดยมีผนังกั้น แต่พูดกันได้ทางช่องปรุ ซึ่งขึงบังไว้ เมื่อเข้าไปที่แก้บาปแล้ว ผู้แก้บาปต้องคุกเข่าลงและสารภาพบาปกับบาทหลวง การสารภาพบาป (Confession) เป็นเพียงส่วนหนึ่งของศีลแก้บาป (Penance) พิธีศีลแก้บาปที่ถูกต้อง ต้องปฏิบัติ 5 ประการ คือ
1. ต้องพิจารณาบาปที่ตัวได้กระทำ
2. มีความทุกข์ถึงบาปด้วยใจจริง
3. ตั้งใจแน่วแน่ที่จะแก้ไขตัวเอง ตั้งใจจะไม่กระทำบาปอีก
4. ต้องสารภาพบาปทั้งหมด
5. ต้องกระทำกิจใช้โทษบาปอันพระสงฆ์ได้มอบให้กระทำ
หลังจากที่บาทหลวงได้ฟังคำสารภาพบาปของผู้มาแก้บาป และได้ให้คำตักเตือน ชี้แจงให้รู้จักวิธีแก้ไขแล้ว ท่านก็กำหนดการใช้โทษบางอย่างให้ทำ และกล่าวคำอภัยบาปให้ในนามของพระบิดา พระบุตร และพระจิต บาทหลวงจะต้องเก็บคำสารภาพบาปทั้งหมดไว้เป็นความลับ จะเปิดเผยความลับของผู้นั้นให้ใครอื่นรู้ไม่ได้
ผู้ที่ได้สารภาพบาปกับบาทหลวง และบาทหลวงกล่าวคำอภัยบาปให้แล้วนั้น ถือว่าพระเจ้าให้อภัยในความผิดที่ได้กระทำไป อันเป็นการขัดเคืองพระทัยพระเจ้า แต่ถ้าเขายังมิได้ชดใช้บาปอย่างสมดุลกับความผิดที่ได้ทำลงไป โทษของบาป (ซึ่งเปรียบได้กับกรรมในพระพุทธศาสนา) ยังคงติดตัวต่อไป ผู้แก้บาปแล้วต้องทำความดีเพื่อชดใช้โทษบาปจนหมดสิ้นกรรม มิฉะนั้นจะไม่ได้ขึ้นสวรรค์
5. พิธีเจิมคนไข้ (Extreme Unction)
หมายถึง ศีลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งบรรเทาวิญญาณและร่างกายของผู้ป่วย พิธีนี้กระทำแก่คนไข้เจ็บป่วยเป็นการลดโทษบาป ทั้งช่วยให้มีสติกำลังสามารถต่อสู้มารร้ายได้จนถึงที่สุด และศีลนี้จะรักษาโรคทางกายให้บรรเทาเบาบางลง หรือให้หายโรคภัย ในพิธีนี้บาทหลวงจะโปรดศีลโดยใช้น้ำมันสิ่งศักดิ์สิทธิ์เจิมทาที่ตา หู จมูก ปาก มือ และเท้าของคนไข้ พลางสวดอ้อนวอนขอให้พระเจ้าได้โปรดอภัยบาปอันได้กระทำลงไปแล้วด้วยอวัยวะดังกล่าว
6. พิธีบรรพชา (Holy Order Ordination)
พิธีบรรพชาเรียกหลายอย่าง คือ ศีลบรรพชา ศีลบวช หรือศีลอนุกรม เป็น พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งบวชเสกบุคคลให้เป็นบาทหลวง และมอบอำนาจอันพวกสาวกได้รับจากพระเยซูคริสต์เจ้า อำนาจดังกล่าว คือ อำนาจปกครอง อำนาจสั่งสอน และอำนาจโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ ในนามของพระเยซูคริสต์
ผู้มีอำนาจโปรดศีลอนุกรม คือ พระสังฆราช ซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยตรงจากสมเด็จพระสันตะปาปาให้ปกครองท้องถิ่นที่หนึ่งเรียกว่า สังฆมณฑล
ผู้ที่จะบวชเป็นบาทหลวงได้จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. เป็นบุรุษคาทอลิกซึ่งมีอายุครบ 24 ปี บริบูรณ์
2. ต้องมีความสมัครใจจะใช้ชีวิตในหน้าที่บทหลวงตลอดชีวิต
3. ต้องมีความรู้ตามที่กำหนดไว้เป็นอย่างน้อย
4. ต้องสมประกอบทุกอย่าง
5. ต้องมีความประพฤติและนิสัยดี
6. เป็นบุคคลที่ถูกเลือกสรรจากพระสังฆราช
บาทหลวงคาทอลิกไม่อนุญาตให้สมรส ต้องถือชีวิตโสดเพื่ออุทิศตนสำหรับงานของพระผู้เป็นเจ้า
ในพิธีบรรพชานั้น พระสังฆราชปกมือเหนือผู้ที่จะรับศีล (วางมือเหนือศีรษะ) เชิญพระจิตเสด็จลงมาในวิญญาณของผู้รับศีล แล้วพระสังฆราชก็เจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ที่มือของผู้รับศีล
7. ศีลสมรส (Matrimony)
ศีลสมรสหรือศีลแต่งงาน ตามคำสอนของพระศาสนจักร การแต่งงานจัดเป็นศีลปะการหนึ่ง ผู้ที่ได้รับศีลสมรสแล้วจะหย่าร้างกันไม่ได้ และห้ามสมรสใหม่ในขณะที่สามีหรือภรรยายังมีชีวิตอยู่
พิธีแต่งงานของคริสตัง ต้องกระทำต่อบาทหลวง หลักใหญ่ของการแต่งงาน คือ การตกลงยินยอมทั้งสองฝ่าย แต่ละฝ่ายต้องพร้อมใจและแสดงความจำนงอย่างเปิดเผย และด้วยเสรีต่อหน้าบาทหลวงองค์หนึ่ง และพยานอีก 2 คน ว่าฝ่ายชายสมัครใจรับฝ่ายหญิงเป็นภรรยาและฝ่ายหญิงก็สมัครใจรับฝ่ายชายเป็นสามี หลังจากทั้งสองฝ่ายกล่าวแสดงความยินยอมแล้ว บาทหลวงก็อวยพรขอให้พระเป็นเจ้าประทานชีวิตผาสุกยืนนาน และความเจริญรุ่งเรืองแก่คู่แต่งงาน
พิธีแต่งงานของคริสตัง มักจะกระทำกันภายในวัดเวลาเช้า เพราะพระศาสนจักรอยากให้มีพิธีมิสซา (รับศีลมหาสนิท) สำหรับคู่แต่งงาน ทั้งนี้เพื่อขอพรต่างๆ จากพระเจ้าให้การอยู่ร่วมกันนี้ได้ยืนยงด้วยความสุขตลอดไป
ขอบคุณข้อมูลจาก catholicthailand.com
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ข้อพระคัมภีร์ประจำวันและการอุทิศตน – โคโลสี 2:7
ข้อพระคัมภีร์ประจำวันและการอุทิศตน – โคโลสี 2:7 จงหยั่งรากและก่อร่างสร้างขึ้นในพระองค์ จงมั่นคงในความเชื่อตามที่ได้รับการสอนมาแล้ว และ...
-
เซาโล (เปาโล) - ยอมรับบาปและกลับใจ เซาโลข่มเหงคริสตจักร และ เซาโล ก็เห็นชอบด้วยกับการฆ่าสเทเฟน ขณะนั้นเกิดการข่มเหงคริสตจักรครั้งใหญ...
-
"ขณะเมื่อเรายังอ่อนกำลัง พระคริสต์สิ้นพระชนม์เพื่อคนอธรรมในเวลาที่เหมาะสม อันที่จริง มีน้อยคนนักจะยอมตายเพื่อคนชอบธรรม แต่บางทีจะม...
-
วันที่ห้าสิบเอ็ด-วิธีการอธิษฐาน 9“ฉะนั้น ท่านควรจะอธิษฐานดังนี้ว่า “ ‘ข้าแต่พระบิดาของข้าพระองค์ทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์ ข...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น