วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2561

รวบรวมครบทุกขั้นตอนการแต่งงานในพิธีคริสต์


การแต่งงานกับผู้ที่ไม่นับถือศาสนาคริสต์
แต่เดิมชาวคริสต์นั้นเชื่อว่าการแต่งงานข้ามศาสนาไม่เป็นผลดี เพราะขัดต่อพระคัมภีร์ เนื่องจากความเชื่อที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตร่วมกันได้ ดังนั้นคนที่ไม่ใช่ศาสนาคริสต์จึงต้องทำการเปลี่ยนมานับถือศาสนาเดียวกัน และเรียนคำสอนต่าง ๆ เพื่อให้ความเชื่อของบ่าวสาวเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ปัจจุบันการแต่งงานข้ามศาสนามีมากขึ้นและไม่ถือเป็นเรื่องผิด จึงแล้วแต่ความสมัครของแต่ละคนที่จะเปลี่ยนศาสนาหรือไม่ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ตามหลักศาสนาคริสต์ เช่น การอบรมคู่แต่งงาน การสอบถามสอบสวน ฯลฯ จึงจะถือว่าเป็นการแต่งงานที่ถูกต้องตามหลักศาสนาคริสต์

พิธีแต่งงานของแต่ละศาสนามีรายละเอียดและลำดับพิธีการที่แตกต่างกัน แม้แต่ในศาสนาเดียวก็มีความต่างในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยเช่นกัน อย่างพิธีแต่งงานในศาสนาคริสต์ ถ้านับถือนิกายใด ก็จะมีรายละเอียดของพิธีที่ต่างกันออกไป


พิธีแต่งงานตามศาสนาคริสต์แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ พิธีแบบนิกายโรมันคาทอลิก (คาทอลิก/คริสตัง) และแบบนิกายโปรเตสแตนต์ (คริสเตียน) สิ่งที่เหมือนกันและเป็นหัวใจของการแต่งงานในศาสนาคริสต์ก็คือ การที่บ่าวสาวสมัครใจที่จะร่วมชีวิตกันและทำพันธสัญญาต่อพระผู้เป็นเจ้า ผ่านผู้ประกอบพิธีซึ่งถือเป็นตัวแทนของพระองค์

ความแตกต่างระหว่างการแต่งงานของผู้ที่เป็นคาทอลิกและคริสเตียน คือตามความเชื่อของชาวคาทอลิก การแต่งงานเกิดจากพื้นฐานความรักความสมัครใจของคู่สมรส และการแต่งงานถือเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ มีลักษณะเป็นเอกภาพ หนึ่งเดียวกัน (Unity) ทำให้หย่าร้างไม่ได้ (Indissolubility) ส่วนคนที่เป็นคริสเตียนสามารถหย่าร้างได้ แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้มีการหย่าร้าง ซึ่งมีระบุในคำสอนของชาวคริสเตียนว่าพระเจ้าทรงเกลียดการหย่าร้าง (มาลาคี 2:16) แผนการของพระเจ้าคือให้คู่สมรสอยู่ด้วยกันตลอดชีวิต (ปฐมกาล 2:24; มัทธิว 19:6) เหตุผลเดียวที่พระเจ้าทรงอนุญาตให้มีการหย่าร้างได้คือเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนอกใจ (ปฐมกาล 2:24; มัทธิว 19:6)

 การแต่งงานของชาวคริสต์ก็คือการทำพิธีศีลสมรส ซึ่งหมายถึง พิธีที่คู่แต่งงานทั้ง 2 คนเป็นคาทอลิก ถือเป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์” ตามนัยของคาทอลิก แต่หากคนใดคนหนึ่งไม่ใช่คาทอลิกจะเรียกพิธีสมรส ซึ่งยังคงถือเป็นพิธีสำคัญที่พระเป็นเจ้าทรงอวยพระพรด้วยเช่นกัน แต่ไม่ถือว่าเป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์” ตามนัยยะของคาทอลิก

 การเตรียมตัวก่อนเข้าพิธีแต่งงานแบบคริสต์
การเตรียมตัวก่อนเข้าพิธีแต่งงานในศาสนาคริสต์นั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการยื่นเรื่องขอประกอบพิธี ได้แก่ โบสถ์ รวมถึงผู้ประกอบพิธี ซึ่งอาจเป็นบาทหลวง (คาทอลิก) หรือศิษยาภิบาล (คริสเตียน) สำหรับสถานที่ในการจัดหากเป็นคาทอลิกต้องจัดในโบสถ์เท่านั้น และหากเป็นคริสเตียนก็ไม่จำเป็นต้องจัดงานที่โบสถ์เสมอไป ส่วนพิธีการอื่น ๆ ที่เป็นรายละเอียดของการแต่งงานนั้น ไม่มีความแตกต่างกัน

 การจัดเตรียมพิธีแต่งงาน บ่าวสาวควรปรึกษากับผู้ประกอบพิธีถึงข้อปฏิบัติและการเตรียมตัว ซึ่งจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องตามพิธีกรรม

1. เลือกโบสถ์หรือสถานที่ใช้ประกอบพิธี
ส่วนใหญ่ชาวคริสต์จะมีโบสถ์ที่ไปเป็นจำของแต่ละครอบครัว ทำให้มีความผูกพันกับสถานที่แห่งนี้ค่อนข้างมาก ดังนั้น เมื่อต้องจัดงานแต่งงานชาวคริสต์ส่วนใหญ่จึงเลือกโบสถ์ที่คุ้นเคยเป็นสถานที่จัดงาน แต่หากจะเลือกโบสถ์อื่นก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกของบ่าวสาวเป็นหลัก เมื่อได้โบสถ์ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานแล้ว จะต้องแจ้งความประสงค์ในการขอจัดพิธีแต่งงานเสียก่อน โดยทางโบสถ์จะส่งว่าที่บ่าวสาวไปอบรมก่อนแต่งงานที่โบสถ์หรือวัดตามศาสนาคริสต์ที่รับอบรมต่อไป ทั้งนี้ คริสต์ศาสนิกชนทุกคนจะต้องผ่านการอบรมคู่แต่งงาน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญก่อนเข้าสู่พิธีการในลำดับถัดไป

2. อบรมคู่แต่งงาน
ตามธรรมเนียมแล้วก่อนแต่งงานชาวคริสต์ทุกคนจะต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตคู่ ภายใต้ความเชื่อและความศรัทธาแบบเดียวกันจากบาทหลวงหรือศิษยาภิบาล ซึ่งส่วนใหญ่จะอบรมทุกวันอาทิตย์ ว่าที่บ่าวสาวสามารถเลือกได้ว่าจะไปอบรมที่ใด หรือช่วงเวลาใด โดยส่วนมากจะต้องเข้าอบรมต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ครั้ง ๆ ละประมาณ 3 ชั่วโมง ส่วนเนื้อหาของบทเรียนจะเน้นเรื่องการใช้ชีวิตคู่ตามคำสอนที่บัญญัติไว้ในพระคัมภีร์ ว่าด้วยคนสองคน จะดำรงชีวิตในความศรัทธาอย่างไร ที่จะส่งผลไปสู่ลูก ๆ ในวันข้างหน้าได้อย่างถูกต้อง

การอบรมนี้ จะเป็นการฟังคำสอนจากบาทหลวงหรือศิษยาภิบาล พร้อมด้วยบรรยายจากวิทยากรในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการแต่งงาน เช่น การคุมกำเนิดโดยวิธีธรรมชาติ เป็นต้น (เนื่องจากชาวคริสต์ห้ามมีการคุมกำเนิดใด ๆ นอกจากวิธีทางธรรมชาติ เพราะถือเป็นการขัดขวางการเกิดของพระบุตรของพระเจ้า) โดยเนื้อหาการอบรมส่วนใหญ่จะเน้นไปที่คำสอนเพื่อให้เข้าใจถึงการแต่งงานตามหลักศาสนาคริสต์ ซึ่งคริสตนชนถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญที่สุด เป็นคำสัญญาที่ให้กันต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้า

เมื่อผ่านการอบรมแล้ว ว่าที่บ่าวสาวจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองเป็นหลักฐานเพื่อขอประกอบพิธีมิสซาหรือพิธีล้างบาป เนื่องจากการประกอบพิธีแต่งงาน บ่าวสาวจะต้องยื่นหลักฐานสำคัญ ได้แก่ การผ่านพิธีศีลล้างบาป ใบรับรองผ่านการอบรม ส่วนบ่าวสาวที่เป็นชาวต่างชาติจะต้องมีใบรับรองสถานภาพว่าเป็นโสดด้วย

การยื่นเรื่องขอประกอบพิธีแต่งงาน สามารถยื่นกับบาทหลวงเจ้าอาวาสของวัด หรือศิษยาภิบาลที่ประกอบพิธีการแต่งงาน ซึ่งจะนำเรื่องขออนุมัติประกอบพิธีต่อพระสังฆราชต่อไป โดยมากมักใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน จากนั้นเมื่อบ่าวสาวกำหนดวันที่จะประกอบพิธีแล้ว จะต้องแจ้งข่าวต่อสัตบุรุษที่มาร่วมรับมิสซา หรือต้องประกาศให้สาธารณชนทราบ โดยบาทหลวงหรือศิษยาภิบาลจะปิดประกาศภายในโบสถ์เป็นเวลา 3 อาทิตย์ เพื่อเป็นการยืนยันว่าคนทั้งคู่เป็นโสดจริง และมีอิสระ หากผู้ใดเห็นว่าทั้งคู่ไม่ควรแต่งงานกัน ก็สามารถคัดค้านได้ก่อนจะถึงวันแต่งงาน

3. การสอบถามสอบสวน (สัมภาษณ์)
หลังจากผ่านการอบรมแล้ว จะเข้าสู่การสัมภาษณ์ โดยทั้งคู่ต้องนำประกาศนียบัตรไปยื่นให้บาทหลวงหรือศิษยาภิบาลที่จะประกอบพิธีให้แก่คู่บ่าวสาวในขั้นตอนต่อไป พร้อมทำการสอบสวนบันทึกข้อมูลและประวัติของบ่าวสาวก่อนเข้าพิธีแต่งงาน
จากนั้นจะมีการกรอกแบบสอบถามก่อนพิธี ซึ่งบ่าวสาวต้องกรอกคนละ 1 ชุด ระหว่างนั้นบาทหลวงหรือศิษยาภิบาลจะตั้งคำถามเพื่อสัมภาษณ์ไปเรื่อย ๆ โดยคำถามสำคัญก็คือ เคยแต่งงานมาก่อนหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจว่าการแต่งงานครั้งนี้ถูกต้องตามกฎของพระศาสนจักร ส่วนคำถามอื่น ๆ ก็เพื่อให้มั่นใจว่าทั้งคู่จะเข้าสู่การเป็นคริสตศาสนิกชนที่ดีและนำไปสู่การใช้ชีวิตคู่ ความเข้าใจกัน รู้จักร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน และการให้อภัยซึ่งกันและกันได้ในอนาคต

4. การซ้อมใหญ่
มักจะทำในคืนก่อนวันแต่งงาน โดยผู้ทำพิธี (บาทหลวงหรือศิษยภิบาล) บ่าวสาว และผู้ร่วมพิธีทุกคนจะต้องมาพร้อมกันที่โบสถ์ เพื่อซ้อมลำดับพิธีกรรมทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ สำหรับธรรมเนียมฝรั่ง พ่อแม่ฝ่ายชายเป็นเจ้าภาพอาหารค่ำหลังเสร็จจากการซ้อม (Rehearsal Dinner)

เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นขอจัดพิธี
1. ใบรับศีลล้างบาป (Baptismal Certificate) ที่ได้คัดลอกภายใน 6 เดือนก่อนวันงาน ซึ่งใครที่เคยเข้ารับศีลล้างบาป ต้องติดต่อไปยังวัดที่รับศีลล้างบาปนั้น ๆ เพื่อคัดลอกสำเนาใบรับศีล โดยในเอกสารนี้สามารถรู้ได้ว่าคน ๆ นั้นเคยแต่งงาน มาแล้วหรือไม่

2. ใบรับศีลกำลัง (Confirmation) และศีลมหาสนิท (Communion) หากผู้ใดได้รับศีลล้างบาปแล้ว ก็จะใช้เพียงแค่ใบรับศีลล้างบาปอย่างเดียว เพราะจะมีข้อมูลระบุวันรับศีลกำลังและศีลมหาสนิทรวมอยู่ในใบศีลล้างบาปแล้ว

3. กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้เป็นคาทอลิก จะต้องขอรับเอกสารว่าไม่เคยผ่านพิธีสมรส หรือเรียกว่าใบรับรองโสด โดยต้องกรอกข้อมูลและให้คุณพ่อหรือคุณแม่ลงนามรับรองด้วย

4. เตรียมพยานที่เป็นคาทอลิกไว้ 2 คน โดยทางโบสถ์จะขอชื่อ-นามสกุล และชื่อนักบุญเพื่อใส่ลงในใบ Registration คือ การจดทะเบียนกับทางศาสนจักร ซึ่งโบสถ์จะออกให้บ่าวสาวและพยานลงนามหลังพิธีแต่งงาน (ทางโบสถ์จะเตรียมใบนี้ให้เรียบร้อยก่อนวันงาน)

5. ประกาศนียบัตรการผ่านการอบรมคู่แต่งงาน จะได้เอกสารนี้หลังจากอบรมเสร็จสิ้น

บุคคลในพิธีแต่งงานของศาสนาคริสต์
1. ผู้ถือแหวน (Ring Bearer) มักเป็นเด็กชายอายุไม่เกิน 13 ปี ทำหน้าที่ถือพานแหวน ซึ่งอาจจะเป็นแหวนแต่งงานหรือแหวนที่ทำขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในพิธีก็ได้

 2. ผู้ถือดอกไม้ (Flower Girls) มักเป็นเด็กผู้หญิงอายุ 3-7 ปี มีหน้าที่โปรยกลีบดอกไม้หรือถือช่อดอกไม้เดินนำหน้าขบวนเจ้าสาวก่อนเข้าพิธี

3. ผู้จุดเทียน (Candle Lighters) หญิง 1 คน ชาย 1 คน ไม่จำกัดอายุแต่โดยมากนิยมเป็นเด็ก ซึ่งบ่าวสาวเลือกให้ทำหน้าที่จุดเทียนที่แท่นบูชาเพื่อเริ่มพิธี มีหน้าที่ทำให้เทียนส่องสว่างตลอดพิธี

4. ผู้ร่วมขบวนพิธี คนที่อยู่ในขบวนเจ้าสาว ประกอบด้วย เด็กโปรยดอกไม้ เพื่อนเจ้าสาว เด็กถือแหวนที่ใช้ประกอบพิธี และเจ้าสาวที่เดินคล้องแขนมาพร้อมกับบิดา

5. ผู้อ่านคัมภีร์ (Lector) มีหน้าที่อ่านคำสอนจากพระคัมภีร์ตามที่พระผู้ประกอบพิธีออกนาม จึงต้องมีการซักซ้อมกันก่อน หัวใจของพิธีการแต่งงานแบบชาวคริสต์อยู่ที่พิธีการช่วงการอ่านคัมภีร์ เพราะถ้าหากบ่าวสาวทำผิดต่อคำสัญญานี้ ก็จะไม่ได้รับพระพรจากองค์พระผู้เป็นเจ้า

6. ผู้เชิญแขก (Ushers) มีหน้าที่นำพ่อแม่บ่าวสาวเข้าสู่สถานที่ประกอบพิธีและนำแขกเข้านั่งประจำที่ โดยแขกฝ่ายเจ้าสาวจะนั่งทางด้านซ้าย ส่วนแขกเจ้าบ่าวจะนั่งด้านขวา

ขั้นตอนการทำพิธีแต่งงานแบบคริสต์
1. พิธีจุดเทียน
บริเวณด้านหน้าของโบสถ์ที่จะใช้ในการประกอบพิธีจะมีเชิงเทียน 2 แท่นตั้งอยู่ทางซ้ายและขวา เมื่อเริ่มเข้าสู่พิธี คนจุดเทียน (นิยมเป็นเด็ก) ที่ได้รับเลือกจะเดินถือเทียนเปล่าไปต่อไฟจากแท่นเทียนที่อยู่ด้านหน้าโบสถ์ จากนั้นจะนำเทียนที่อยู่ในมือไปจุดต่อยังเชิงเทียนด้านซ้ายและขวา หลังจากจุดเทียนเสร็จทั้งสองก็จะเดินออกมาจากแท่นพิธี

2. พิธีบรรเลงเพลง
เมื่อคนจุดเทียนทั้งสองเดินออกจากแท่นพิธีแล้ว วงดนตรีที่อยู่ในโบสถ์จะบรรเลงเพลงต้อนรับ โดยส่วนใหญ่จะเป็นนักเปียโนที่มาเล่นเพลงสำหรับพิธีโดยเฉพาะ

3. พิธีแต่งงานหรือการพาเจ้าสาวเข้าสู่โบสถ์
ขบวนเจ้าสาว ประกอบไปด้วยเด็กที่ถือแหวน เด็กโปรยดอกไม้ เพื่อนเจ้าสาว และเจ้าสาวที่คล้องแขนบิดาเดินเข้าสู่พิธีภายในโบสถ์ การที่เจ้าสาวเดินควงแขนมาพร้อมกับคุณพ่อไปตามทางเดินสู่พิธีนั้น ถือเป็นการมอบกรรมสิทธิ์ในการปกป้องทะนุถนอมดูแลเจ้าสาวต่อให้กับเจ้าบ่าว รวมทั้งเจ้าสาวเองก็มีหน้าที่ปรนนิบัติและให้ความเคารพนับถือสามีด้วยเช่นกัน ในจังหวะที่ขบวนเจ้าสาวเดินเข้าสู่พิธี แขกที่มาร่วมงานจะลุกขึ้นยืน เพื่อเป็นการให้เกียรติ

4. พิธีอ่านคัมภีร์คู่ชีวิต
เมื่อบิดาและเจ้าสาวเดินมาถึงบริเวณที่ประกอบพิธีก็จะส่งตัวเจ้าสาวให้กับเจ้าบ่าวที่ยื่นรออยู่หน้าแท่นพิธี จากนั้นบาทหลวงหรือศิษยาภิบาลผู้ประกอบพิธีจะอ่านข้อพระคัมภีร์เกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ เพื่อให้บ่าวสาวรับทราบถึงภาระหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อกันเมื่อก้าวเท้าสู่การใช้ชีวิตคู่ต่อไป

 5. พิธีกล่าวคำปฏิญาณ
ขั้นตอนนี้ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มากที่สุด ในสมัยก่อนนั้นบ่าวสาวจะกล่าวคำปฏิญาณตามผู้ประกอบพิธี แต่ในปัจจุบันผู้ประกอบพิธีเพียงแต่กล่าวนำให้เท่านั้น จากนั้นบ่าวสาวจะมีคำปฏิญาณเป็นของตนเอง ส่วนใหญ่จะร่างมาก่อนหรืออาจมากล่าวในงานเลยก็ได้ แต่ใจความสำคัญก็คือ การปฏิญาณและสัญญาว่าจะซื่อสัตย์ทั้งในยามสุขและยามทุกข์ ทั้งในเวลาป่วยและเวลาสบาย และจะรัก ยกย่องให้เกียรติไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่

6. พิธีแลกแหวนแต่งงาน
แหวนแต่งงานเป็นสัญลักษณ์ของความผูกพันที่ทั้งสองให้กันตลอดไป โดยมากนิยมใช้เป็นแหวนกลมเกลี้ยงปราศจากรอยต่อ เพื่อสื่อถึงความรักไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเจ้าบ่าวจะเป็นผู้สวมแหวนให้กับเจ้าสาวก่อน

 7. พิธีลงนาม
เมื่อผู้ประกอบพิธีประกาศให้ทั้งสองเป็นสามี-ภรรยากันแล้ว ก็จะเข้าสู่การลงนามในหนังสือสำคัญที่โบสถ์เป็นผู้ออกให้ (ไม่ใช่ทะเบียนสมรส) โดยบ่าวสาวจะเซ็นชื่อในใบรับรองเพื่อเป็นหลักฐานว่าทั้งคู่ได้แต่งงานกันที่โบสถ์แห่งนี้ และมีพยานเซ็นร่วมด้วย ถือว่าเป็นอันเสร็จพิธี ซึ่งพยานที่เซ็นรับรองส่วนใหญ่จะเป็นคู่สามี-ภรรยาที่รักกันและอยู่กันมานาน

8. พิธีจุดเทียนครอบครัว
พิธีการสุดท้ายที่กระทำภายในโบสถ์ โดยเริ่มจากเจ้าสาวจุดเทียนซ้ายและเจ้าบ่าวจุดเทียนขวา และมาจุดเทียนเล่มกลางพร้อมกัน เพื่อแสดงถึงการรวมเป็นครอบครัวเดียวกัน หลังจากนั้นผู้ประกอบพิธีจะอธิษฐานขอพรสำหรับครอบครัวใหม่ และประกาศการแต่งงานระหว่างคู่บ่าวสาวอย่างเป็นทางการ ถือเป็นการสิ้นสุดพิธีแต่งงานโดยสมบูรณ์

 9. พิธีโยนดอกไม้
หลังจากเสร็จสิ้นพิธีการต่าง ๆ ภายในโบสถ์แล้ว แขกที่มาร่วมงานจะออกมาด้านหน้าของโบสถ์โดยโปรยดอกไม้ตลอดทางเดินไปด้วย ซึ่งบ่าวสาวจะเดินตามหลังแขกออกมาเพื่อโยนดอกไม้ให้กับบรรดาเพื่อนเจ้าสาว ถือเป็นเคล็ดอย่างหนึ่ง
(ขอบคุณข้อมูล จาก happywedding.life)


 ขอให้ทุกท่านมีึวามสุขในชีวิตหลังแต่งงานนะคะ ขอพระเจ้าอวยพร
KC Love God


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

พระวจนะของพระเจ้าสำหรับวันนี้ การทรยศ

  พระวจนะของพระเจ้าสำหรับวันนี้ การทรยศ อ่านมัทธิว 26:3 ถึง 27:66 ยูดาสตอบรับการเรียกของพระเยซูให้ติดตามเช่นเดียวกับสาวกคนอื่นๆ เขาออ...