วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

เกร็ดความรู้ศาสนาคริสต์ในประเทศไทย



เกร็ดความรู้ศาสนาคริสต์ในประเทศไทย
Written by บาทหลวงวรยุทธ กิจบำรุง

ศาสนาคริสต์ คือ ศาสนาที่มีความเชื่อหลักๆ เหมือนกัน คือเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า ในพระเยซูคริสตเจ้า และพระคัมภีร์  อย่างไรก็ตาม ในแต่ละนิกายอาจจะมีความแตกต่างออกไปบ้าง ด้านความเชื่อ ด้านศาสนพิธี ด้านการปฏิบัติ การปกครอง

แบ่งออกเป็น 3 นิกายใหญ่ คือ

โรมันคาทอลิก (Catholic)
ออร์โธดอกซ์ (Orthodox)
โปรเตสแตนต์ (Protestant)

1. นิกายโรมันคาทอลิก
     เรียกสั้นๆ ว่า “คาทอลิก” เนื่องมาจากใช้ภาษาละตินเป็นหลัก มีพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 เป็นประมุขสูงสุด เป็นองค์ที่ 265 และมีพระคาร์ดินัล พระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวช ปกครองและเผยแผ่ศาสนา และมีศูนย์กลางที่กรุงโรม มีคณะนักบวชทั้งชายและหญิง ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อทำตามวัตถุประสงค์ของแต่ละคณะ เช่น คณะคามิลเลียน ดูแลคนป่วย,คณะซาเลเซียน ช่วยเด็กยากจน เด็กกำพร้า, คณะเซนต์คาเบรียล สนใจเรื่องการศึกษา ฯลฯ

2. นิกายออร์โธดอกซ์
     ส่วนใหญ่จะยึดพิธีกรรมแบบดั้งเดิม ใช้ภาษากรีก ส่วนใหญ่อยู่ในรัสเซีย กรีก มีผู้นำสูงสุดของแต่ละประเทศ เรียกว่า พระอัยกา (Patriarch) เช่น พระอัยกาแห่งรัสเซีย พระอัยกาแห่งคอนสแตนติโนเปิล เป็นต้น ไม่มีผู้นำสูงสุดระดับสากล ในประเทศไทยยังไม่มีอย่างเป็นทางการ

3. นิกายโปรเตสแตนต์
     ประกอบด้วยนิกายย่อยๆ อีกเป็นจำนวนมาก และมีความแตกต่างกันหลักๆ คือ ด้านการปกครอง แต่ละนิกายมีอิสระต่อกัน ส่วนใหญ่เป็นฆราวาสทำหน้าที่ประกาศศาสนาในประเทศไทย มีข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ มีคำเรียกคาทอลิกว่า “คริสตัง” และเรียกโปรเตสแตนต์ว่า “คริสเตียน” (Christian) คาทอลิกเรียกสถานที่ประกอบพิธีกรรมว่า “วัด หรือ โบสถ์” ส่วนทางโปรเตสแตนต์เรียกว่า “คริสตจักร” คาทอลิกจะมีบาทหลวง ซิสเตอร์ (ภคินี) บราเดอร์ (ภราดา) ส่วนทางโปรเตสแตนต์จะมีศิษยาภิบาล หรือศาสนา-จารย์ เป็นผู้นำคริสตจักร ในวัดคาทอลิกจะมีรูปพระเยซู รูปแม่พระ รูปนักบุญต่างๆ ส่วนวัดโปรเตสแตนต์จะมีไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์ และส่วนใหญ่ไม่มีพระรูปพระเยซูเจ้าถูกตรึงอยู่บนไม้กางเขนนั้น เพราะเชื่อว่า พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพ และเสด็จขึ้นสวรรค์แล้ว

ในประเทศไทย  ศาสนาคริสต์   ซึ่งกรมการศาสนารับรองมี 5 องค์กร คือ

     1. ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งเข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยา พ.ศ. 2110 (ค.ศ. 1567)
โดยมิสชันนารีชาวโปรตุเกส     นักบวชคณะโดมินิกัน จากมะละกา ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 3 แสนคน มีพระสงฆ์หรือบาทหลวงทั้งสิ้น 750 องค์ ภราดา 98 คน ภคินี 1,596 คน วัด 478 แห่ง (จากปฏิทินคาทอลิก ค.ศ. 2009)
สำนักงานอยู่ที่ 122/11 ซอยนาคสุวรรณ ถนนนนทรี ยานนาวา กรุงเทพฯ
10120 โทร. 0-2681-3900 ต่อ 1201 โทรสาร 0-2681-5369 ถึง 70 Email : cbct_th@hotmail.com

     2. สภาคริสตจักรในประเทศไทย ได้ก่อตั้งเป็นสภาฯ เมื่อ พ.ศ. 2477 แต่มิสชันนารีได้เข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2371 (ค.ศ. 1828)
รุ่นแรกๆ มาจากยุโรป และสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีการปกครองแบ่งออกเป็น 19 ภาค มีคริสตจักร 844 แห่ง สมาชิก 120,000 คน
สำนักงานอยู่ที่ 328 ถ.พญาไท (เชิงสะพานหัวช้าง) แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10100
โทร. 0-2214-6000-9

     3. สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย ได้รับการรับรองจากรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2512 ต่อมา พ.ศ. 2519 ได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิสหกิจคริสเตียน
ปัจจุบันมีสมาชิกที่เป็นมิชชั่นในสังกัดคริสตจักร 1,200 แห่ง และสมาชิก 70,000-100,000 คน มีองค์กรในสังกัด 110 คณะ
สำนักงานอยู่ที่  64/1 ถ.รามคำแหง ซ. 22 หัวหมาก บางกะปิ กรุงเทพฯ 10240 โทร. 0-2318-8235-7, 0-2318-3887

     4. สหคริสตจักรแบ๊บติสต์ในประเทศไทย ได้เข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) มีคริสตจักร 48 แห่ง มีสมาชิก 5,000 คน (ค.ศ. 2001)
สำนักงานอยู่ที่ 90 ถนนสุขุมวิท ซอย 2 คลองเตย กรุงเทพฯ 10110 โทร. 0-2656-9038 โทรสาร 0-2251-0680

     5. มูลนิธิคริสตจักรเซเว่นธ์เดย์ แอ๊ดเวนติส แห่งประเทศไทย ได้เริ่มเข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย พ.ศ. 2449 (ค.ศ. 1906)
มีคริสตจักร 30 แห่ง และมีสมาชิก 7,000 คน (ค.ศ. 2002)
สำนักงานเลขที่ 12 ซอยปรีดี พนมยงค์ 37 สุขุมวิท 71 คลองตันเหนือ วัฒนา กรุงเทพฯ 10110
โทร. 0-2381-3298 โทรสาร 0-2381-1928 สำหรับคำพูดรวมๆ ที่เรียกผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายต่างๆ เราใช้ “คริสตชน” (Christian)

 บทบัญญัติสิบประการ (อพย 20:1-17)
จงนมัสการพระเป็นเจ้าผู้เดียวของเจ้า
อย่าออกพระนามพระเป็นเจ้าโดยไม่สมเหตุ
วันพระเจ้าอย่าลืมฉลองเป็นวันศักดิ์สิทธิ์
จงนับถือบิดามารดา
อย่าฆ่าคน
อย่าทำอุลามก
อย่าลักขโมย
อย่าใส่ความนินทา
อย่าปลงใจในความอุลามก
อย่ามักได้ทรัพย์ของเขา

     พระเยซูเจ้าทรงสรุปคำสอนในพระบัญญัติ ว่า “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาของท่าน นี่คือบทบัญญัติเอกและเป็นบทบัญญัติแรก  บทบัญญัติประการที่สองก็เช่นเดียวกัน คือท่านต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง  ธรรมบัญญัติและคำสอนของบรรดาประกาศก็ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติสองประการนี้” (มธ 22:37-39)



ความสุขแท้จริง (มธ 5:1-12)

พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นประชาชนมากมาย จึงเสด็จขึ้นบนภูเขา เมื่อประทับแล้ว บรรดาศิษย์เข้ามาห้อมล้อมพระองค์ พระองค์ทรงเริ่มตรัสสอนว่า
ผู้มีใจยากจน ย่อมเป็นสุข  เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา
ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน
ผู้มีใจอ่อนโยน ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก
ผู้หิวกระหายความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม
ผู้มีใจเมตตา ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา
ผู้มีใจบริสุทธิ์ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า
ผู้สร้างสันติ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า
ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา



บทบัญญัติใหม่ (ยอห์น 13:34)

พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราให้บทบัญญัติใหม่แก่ท่านทั้งหลาย ให้ท่านรักกันเรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด”



บทภาวนาของนักบุญฟรังซิส ชาวอัสซีซี

ข้าแต่พระบิดา ขอพระองค์ทรงกระทำให้ข้าพเจ้าเป็นเครื่องมือของพระองค์ เพื่อสร้างสันติ
- ที่ใดมีความเกลียดชัง   ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความรัก
- ที่ใดมีความเจ็บแค้น   ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำการอภัย
- ที่ใดมีความแตกแยก   ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความสามัคคี
- ที่ใดมีความเท็จ   ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความจริง
- ที่ใดมีความสงสัย   ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความเชื่อ
- ที่ใดมีความสิ้นหวัง   ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความหวัง
- ที่ใดมีความมืด   ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความสว่าง
- ที่ใดมีความเศร้าโศก ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความยินดีเบิกบานใจ
   ข้าแต่พระเป็นเจ้า โปรดให้ข้าพเจ้าเป็นผู้บรรเทา
   มากกว่าจะเป็นผู้รับการบรรเทา
- เห็นใจผู้อื่น มากกว่าจะรับความเห็นใจ
- รักผู้อื่นก่อน และมากกว่าที่จะให้คนอื่นรักข้าพเจ้า
- ผู้ที่ให้เท่านั้น จะได้รับความอิ่มเอิบยินดี
- ผู้ที่ลืมตนเองเท่านั้น จะพบตนเองในทางสันติ
- ผู้ที่ยกโทษให้เท่านั้น จะได้รับการอภัยโทษ
   ดังนี้เมื่อเราตาย จะได้ไปสู่พระราชัยของพระองค์ตลอดนิรันดร
cmdiocese.org

ภายใต้ดวงอาทิตย์...ทุกสิ่งมีวาระ



ภายใต้ดวงอาทิตย์...ทุกสิ่งมีวาระ

ปัญญาจารย์ได้กล่าวไว้ว่าชีวิตภายใต้ดวงอาทิตย์ สิ่งต่างๆจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามวาระ  ตามฤดูกาล  เวลาไม่ได้เห็นแก่หน้าใคร ทุกคนล้วนได้เวลาแต่ละวันที่เท่ากันหมด เราไม่สามารถควบคุมเวลาได้ ดูเหมือนเวลาจะเป็นผู้ควบคุมเรามากกว่า ชีวิตมีการผันแปรอยู่ตลอดเวลา บ่อยครั้งดูเหมือนว่าเราสามารถควบคุมสถานการณ์ต่างๆให้เป็นไปตามแผนการณ์ของเรา แต่ก็เป็นความจริงว่ามีไม่น้อยครั้งที่เราต้องปล่อยให้เป็นไปตามวาระ ตามกาลเวลาของมัน อะไรจะเกิดก็ต้องปล่อยให้เกิด อย่างไรก็ตามพระเจ้าได้ทรงบรรจุนิรันดร์กาลไว้ในจิตใจมนุษย์เพื่อมนุษย์จะเข้าใจชีวิตนิรันดร์ที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้สำหรับมนุษยชาติ ด้วยเหตุนี้มนุษย์ขณะอยู่บนโลกนี้ต้องยำเกรงพระเจ้าและชื่นชมยินดีกับชีวิตที่พระเจ้าทรงประทานให้

ข้อ 1-10 วาระและเวลาเป็นพระพรที่พระเจ้าทรงประทาน
แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงและมีความหลากหลายในเรื่องราวต่างๆ แต่ทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงอนุญาตให้เกิดขึ้น ล้วนเป็นประโยชน์สำหรับคนที่รักพระองค์ (โรม 8:28) เพราะพระเจ้าทรงเป็นผู้ควบคุมสิ่งเหล่านี้

วาระ การเกิดการตายการปลูกการถอนการฆ่าการรักษาการสร้างการทำลายการหัวเราะการร้องไห้ การเต้นรำการไว้ทุกข์
หมายถึง ชีวิตของมนุษย์การเกษตรทางการแพทย์การก่อสร้างชีวิตที่มีกาลเทศะ ความเห็นอกเห็นใจ

วาระ การสวมกอด การงดเว้น
หมายถึง สัมพันธภาพของคู่สมรส

วาระ การรักการเกลียด การรวบรวมหิน การโยนทิ้งน้ำ
หมายถึง การสร้างมิตรภาพหรือการสร้างศัตรู

วาระ การเก็บรักษาการโยนทิ้ง
หมายถึง อะไรควรรักษา อะไรควรอนุรักษ์

วาระ การหา การหาย
หมายถึง อะไรควรโยนทิ้งหรือไม่ต้องซื้อ

วาระ การสงคราม การสันติ การพูด การเงียบ
หมายถึง อะไรที่เรามีส่วนร่วม อะไรที่ควรอยู่เฉยๆ ทั้งการพูดหรือการร่วมงาน เพราะบางครั้งการนั่งเฉยก็เกิดประโยชน์กว่าการแสดงความคิดเห็น

วาระ การฉีกขาด การเย็บ
หมายถึง  การรู้จักาละเทศะ  อะไร ที่ไหน อย่างไร

ข้อ 11-22 วาระและเวลาในโลกนี้เป็นสิ่งชั่วคราว แต่ชีวิตนิรันดร์เป็นพระคุณที่พระเจ้าทรงประทาน
โลกนี้อนิจจัง กินลมกินแล้ง ทั้งสั้น ทั้งร้าย ทั้งชั่วคราว และต้องตาย พระธรรมปัญญาจารย์เอ่ยถึง “อนิจจัง” 21 ครั้ง “กินลมกินแล้ง” 7 ครั้ง “ตาย” 7 ครั้ง ชีวิตเปรียบเหมือนวันๆหนึ่ง เปรียบเหมือนหมอก เปรียบเหมือนนักทัศนาจร มนุษย์และสัตว์ก็ต้องตาย คนดีคนชั่วก็ต้องตาย คนชอบธรรมคนอธรรมก็ต้องตาย คนฉลาดคนโง่ก็ต้องตาย ปัญหาอยู่ที่ว่า “ตายแล้วจะไปไหน”

ขอบคุณพระเจ้าที่ทรงเตรียมวาระและเวลาในอนาคตให้กับมนุษย์

* นิรันดร์กาลเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงตระเตรียมไว้สำหรับมนุษย์ เป็นแผนการตั้งแต่เริ่มต้นการทรงสร้าง เป็นน้ำพระทัยสูงสุดของพระเจ้า (3:11-12)

* ทุกคนต้องรับการพิพากษาจากพระเจ้าตามผลการกระทำของตนขณะที่อยู่ภายใต้ดวงอาทิตย์

* ภายใต้ดวงอาทิตย์มีความตาย แต่เหนือดวงอาทิตย์มีชีวิตนิรันดร์

ข้อคิดสำหรับเรา

1.พระเจ้าทรงเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่างบนแผ่นดินโลกนี้ รวมถึงการเป็นเจ้าของเราชีวิตเราด้วย เรายอมมอบถวายชีวิตเวลาครอบครัว การงาน ทรัพย์สินเงินทอง ฯลฯ ให้พระเจ้าควบคุมหรือไม่

2.เวลาที่พระเจ้าทรงประทานให้แก่มนุษย์เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและเป็นพระพร จงรู้จักใช้วันเวลาที่มีอยู่อย่างมีคุณค่าและความหมาย เพราะวันเวลาผ่านไปเหมือนกระแสน้ำที่ไม่ไหลคืนมาอีก เราใช้เวลาของเราให้เกิดคุณค่าอย่างไร

3.พระเจ้าทรงเป็นผู้ควบคุมเวลา (โดยเฉพาะเรื่องการเกิดและการตาย) แต่ให้อิสรเสรีภาพแก่มนุษย์ในการบริหารเวลา เราบริหารเวลาของเราอย่างไร

4.พระเจ้าทรงให้โลกนี้มีฤดูกาล มีสีสัน มีความสวยสดงดงามในตัวของมันเอง เราขอบพระคุณสำหรับสิ่งเหล่านี้อยู่เสมอหรือไม่

5.พระเจ้าทรงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆตามวาระ ก็เพื่อให้มีชีวิตไม่จืดชืด มีรสชาติ เรารู้สึกว่าชีวิตมีสีสัน มีความสุข และชื่นชมยินดีได้มากน้อยแค่ไหน

6.พระเจ้าทรงสอนให้เรารู้จักเรื่องกาลเทศะ มีบางสิ่งที่เราควรทำและไม่ควรทำ เราแยกแยะและวางตัวในสังคมได้ดีหรือไม่ เราได้ใช้สติปัญญาที่มาจากพระเจ้าในการเข้าใจวาระต่างๆที่เกิดขึ้น เรารับมือหรือปรับตัวหรือแก้ไขได้ดีหรือไม่

7.วาระต่างๆที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินโลก ไม่มีวาระใดที่จีรังยั่งยืน ล้วนอนิจจัง ไม่เที่ยงทั้งสิ้น เรายังยึดติดอยู่กับเงินทอง วัตถุ ชื่อเสียง ความสะดวกสบาย และสิ่งรอบกายต่างๆอย่างเหนียวแน่นหรือไม่

9.และสิ่งที่สำคัญสุดๆของมนุษย์ทุกคนภายใต้ดวงอาทิตย์ ที่ต้องรู้ ที่ต้องเข้าใจ ที่ต้องรับเอาไว้ นั่นคือ “นิรันดรกาล” (ข้อ 11) เรามีวิธีการอย่างไรในการบอกกล่าวให้สมาชิกในครอบครัว เพื่อน นำพวกเขาเข้าสู่ชีวิตนิรันดร์กาลนี้ได้อย่างไร
(โดย ศจ.วิรัช เศรษฐโสภณกุล คำสอนจากพระธรรมปัญญาจารย์  บทที่  3)

 “มีฤดูกาลสำหรับทุกสิ่ง” ผู้เขียนปัญญาจารย์กล่าว “มีวาระสำหรับเรื่องราวทุกอย่างภายใต้ฟ้าสวรรค์” (ปญจ.3:1) ท่านได้บรรยายถึงฤดูกาลต่างๆ ที่มนุษย์ประสบ ได้แก่การเกิดและตายการสูญหายและได้มา การร้องไห้และหัวเราะการไว้ทุกข์และเต้นรำ ดังฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ ซึ่งฤดูกาลในชีวิตมนุษย์ก็เป็นเช่นเดียวกัน ไม่มีสถานการณ์ใดในชีวิตของเราที่คงเดิมเป็นเวลานาน


บางครั้งเราก็ยินดีกับการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาในชีวิตเรา แต่บ่อยครั้งเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความทุกข์และการสูญเสียเกิดขึ้นกระนั้น เราสามารถขอบคุณพระเจ้าได้ เพราะพระองค์ไม่เคยเปลี่ยนแปลงพระเจ้าตรัสกับมาลาคี ผู้เผยพระวจนะว่า“เราคือพระเจ้าไม่มีผันแปร” (มลค.3:6)

เพราะพระเจ้ายังคงเหมือนเดิม เราจึงวางใจในพระองค์ได้ท่ามกลางฤดูกาลชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป พระองค์ทรงสถิตกับเราเสมอ (สดด.46:1) สันติสุขของพระองค์มีฤทธิ์อำนาจคุ้มครองจิตใจของเรา (ฟป.4:7) และความรักของพระองค์ ทำให้จิตวิญญาณของเรามั่นคง (รม.8:39)

พระเจ้าผู้ทรงเป็นป้อมปราการ ทรงปราบมารด้วยฤทธิ์อันเกรียงไกรมันจู่โจมถึงตายดังคลื่นใหญ่ ทรงปกป้องเราเอาไว้พ้นภัยพาล – Luther
(thaiodb.org)







วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2561

รวบรวมครบทุกขั้นตอนการแต่งงานในพิธีคริสต์


การแต่งงานกับผู้ที่ไม่นับถือศาสนาคริสต์
แต่เดิมชาวคริสต์นั้นเชื่อว่าการแต่งงานข้ามศาสนาไม่เป็นผลดี เพราะขัดต่อพระคัมภีร์ เนื่องจากความเชื่อที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตร่วมกันได้ ดังนั้นคนที่ไม่ใช่ศาสนาคริสต์จึงต้องทำการเปลี่ยนมานับถือศาสนาเดียวกัน และเรียนคำสอนต่าง ๆ เพื่อให้ความเชื่อของบ่าวสาวเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ปัจจุบันการแต่งงานข้ามศาสนามีมากขึ้นและไม่ถือเป็นเรื่องผิด จึงแล้วแต่ความสมัครของแต่ละคนที่จะเปลี่ยนศาสนาหรือไม่ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ตามหลักศาสนาคริสต์ เช่น การอบรมคู่แต่งงาน การสอบถามสอบสวน ฯลฯ จึงจะถือว่าเป็นการแต่งงานที่ถูกต้องตามหลักศาสนาคริสต์

พิธีแต่งงานของแต่ละศาสนามีรายละเอียดและลำดับพิธีการที่แตกต่างกัน แม้แต่ในศาสนาเดียวก็มีความต่างในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยเช่นกัน อย่างพิธีแต่งงานในศาสนาคริสต์ ถ้านับถือนิกายใด ก็จะมีรายละเอียดของพิธีที่ต่างกันออกไป


พิธีแต่งงานตามศาสนาคริสต์แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ พิธีแบบนิกายโรมันคาทอลิก (คาทอลิก/คริสตัง) และแบบนิกายโปรเตสแตนต์ (คริสเตียน) สิ่งที่เหมือนกันและเป็นหัวใจของการแต่งงานในศาสนาคริสต์ก็คือ การที่บ่าวสาวสมัครใจที่จะร่วมชีวิตกันและทำพันธสัญญาต่อพระผู้เป็นเจ้า ผ่านผู้ประกอบพิธีซึ่งถือเป็นตัวแทนของพระองค์

ความแตกต่างระหว่างการแต่งงานของผู้ที่เป็นคาทอลิกและคริสเตียน คือตามความเชื่อของชาวคาทอลิก การแต่งงานเกิดจากพื้นฐานความรักความสมัครใจของคู่สมรส และการแต่งงานถือเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ มีลักษณะเป็นเอกภาพ หนึ่งเดียวกัน (Unity) ทำให้หย่าร้างไม่ได้ (Indissolubility) ส่วนคนที่เป็นคริสเตียนสามารถหย่าร้างได้ แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้มีการหย่าร้าง ซึ่งมีระบุในคำสอนของชาวคริสเตียนว่าพระเจ้าทรงเกลียดการหย่าร้าง (มาลาคี 2:16) แผนการของพระเจ้าคือให้คู่สมรสอยู่ด้วยกันตลอดชีวิต (ปฐมกาล 2:24; มัทธิว 19:6) เหตุผลเดียวที่พระเจ้าทรงอนุญาตให้มีการหย่าร้างได้คือเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนอกใจ (ปฐมกาล 2:24; มัทธิว 19:6)

 การแต่งงานของชาวคริสต์ก็คือการทำพิธีศีลสมรส ซึ่งหมายถึง พิธีที่คู่แต่งงานทั้ง 2 คนเป็นคาทอลิก ถือเป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์” ตามนัยของคาทอลิก แต่หากคนใดคนหนึ่งไม่ใช่คาทอลิกจะเรียกพิธีสมรส ซึ่งยังคงถือเป็นพิธีสำคัญที่พระเป็นเจ้าทรงอวยพระพรด้วยเช่นกัน แต่ไม่ถือว่าเป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์” ตามนัยยะของคาทอลิก

 การเตรียมตัวก่อนเข้าพิธีแต่งงานแบบคริสต์
การเตรียมตัวก่อนเข้าพิธีแต่งงานในศาสนาคริสต์นั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการยื่นเรื่องขอประกอบพิธี ได้แก่ โบสถ์ รวมถึงผู้ประกอบพิธี ซึ่งอาจเป็นบาทหลวง (คาทอลิก) หรือศิษยาภิบาล (คริสเตียน) สำหรับสถานที่ในการจัดหากเป็นคาทอลิกต้องจัดในโบสถ์เท่านั้น และหากเป็นคริสเตียนก็ไม่จำเป็นต้องจัดงานที่โบสถ์เสมอไป ส่วนพิธีการอื่น ๆ ที่เป็นรายละเอียดของการแต่งงานนั้น ไม่มีความแตกต่างกัน

 การจัดเตรียมพิธีแต่งงาน บ่าวสาวควรปรึกษากับผู้ประกอบพิธีถึงข้อปฏิบัติและการเตรียมตัว ซึ่งจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องตามพิธีกรรม

1. เลือกโบสถ์หรือสถานที่ใช้ประกอบพิธี
ส่วนใหญ่ชาวคริสต์จะมีโบสถ์ที่ไปเป็นจำของแต่ละครอบครัว ทำให้มีความผูกพันกับสถานที่แห่งนี้ค่อนข้างมาก ดังนั้น เมื่อต้องจัดงานแต่งงานชาวคริสต์ส่วนใหญ่จึงเลือกโบสถ์ที่คุ้นเคยเป็นสถานที่จัดงาน แต่หากจะเลือกโบสถ์อื่นก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกของบ่าวสาวเป็นหลัก เมื่อได้โบสถ์ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานแล้ว จะต้องแจ้งความประสงค์ในการขอจัดพิธีแต่งงานเสียก่อน โดยทางโบสถ์จะส่งว่าที่บ่าวสาวไปอบรมก่อนแต่งงานที่โบสถ์หรือวัดตามศาสนาคริสต์ที่รับอบรมต่อไป ทั้งนี้ คริสต์ศาสนิกชนทุกคนจะต้องผ่านการอบรมคู่แต่งงาน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญก่อนเข้าสู่พิธีการในลำดับถัดไป

2. อบรมคู่แต่งงาน
ตามธรรมเนียมแล้วก่อนแต่งงานชาวคริสต์ทุกคนจะต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตคู่ ภายใต้ความเชื่อและความศรัทธาแบบเดียวกันจากบาทหลวงหรือศิษยาภิบาล ซึ่งส่วนใหญ่จะอบรมทุกวันอาทิตย์ ว่าที่บ่าวสาวสามารถเลือกได้ว่าจะไปอบรมที่ใด หรือช่วงเวลาใด โดยส่วนมากจะต้องเข้าอบรมต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ครั้ง ๆ ละประมาณ 3 ชั่วโมง ส่วนเนื้อหาของบทเรียนจะเน้นเรื่องการใช้ชีวิตคู่ตามคำสอนที่บัญญัติไว้ในพระคัมภีร์ ว่าด้วยคนสองคน จะดำรงชีวิตในความศรัทธาอย่างไร ที่จะส่งผลไปสู่ลูก ๆ ในวันข้างหน้าได้อย่างถูกต้อง

การอบรมนี้ จะเป็นการฟังคำสอนจากบาทหลวงหรือศิษยาภิบาล พร้อมด้วยบรรยายจากวิทยากรในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการแต่งงาน เช่น การคุมกำเนิดโดยวิธีธรรมชาติ เป็นต้น (เนื่องจากชาวคริสต์ห้ามมีการคุมกำเนิดใด ๆ นอกจากวิธีทางธรรมชาติ เพราะถือเป็นการขัดขวางการเกิดของพระบุตรของพระเจ้า) โดยเนื้อหาการอบรมส่วนใหญ่จะเน้นไปที่คำสอนเพื่อให้เข้าใจถึงการแต่งงานตามหลักศาสนาคริสต์ ซึ่งคริสตนชนถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญที่สุด เป็นคำสัญญาที่ให้กันต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้า

เมื่อผ่านการอบรมแล้ว ว่าที่บ่าวสาวจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองเป็นหลักฐานเพื่อขอประกอบพิธีมิสซาหรือพิธีล้างบาป เนื่องจากการประกอบพิธีแต่งงาน บ่าวสาวจะต้องยื่นหลักฐานสำคัญ ได้แก่ การผ่านพิธีศีลล้างบาป ใบรับรองผ่านการอบรม ส่วนบ่าวสาวที่เป็นชาวต่างชาติจะต้องมีใบรับรองสถานภาพว่าเป็นโสดด้วย

การยื่นเรื่องขอประกอบพิธีแต่งงาน สามารถยื่นกับบาทหลวงเจ้าอาวาสของวัด หรือศิษยาภิบาลที่ประกอบพิธีการแต่งงาน ซึ่งจะนำเรื่องขออนุมัติประกอบพิธีต่อพระสังฆราชต่อไป โดยมากมักใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน จากนั้นเมื่อบ่าวสาวกำหนดวันที่จะประกอบพิธีแล้ว จะต้องแจ้งข่าวต่อสัตบุรุษที่มาร่วมรับมิสซา หรือต้องประกาศให้สาธารณชนทราบ โดยบาทหลวงหรือศิษยาภิบาลจะปิดประกาศภายในโบสถ์เป็นเวลา 3 อาทิตย์ เพื่อเป็นการยืนยันว่าคนทั้งคู่เป็นโสดจริง และมีอิสระ หากผู้ใดเห็นว่าทั้งคู่ไม่ควรแต่งงานกัน ก็สามารถคัดค้านได้ก่อนจะถึงวันแต่งงาน

3. การสอบถามสอบสวน (สัมภาษณ์)
หลังจากผ่านการอบรมแล้ว จะเข้าสู่การสัมภาษณ์ โดยทั้งคู่ต้องนำประกาศนียบัตรไปยื่นให้บาทหลวงหรือศิษยาภิบาลที่จะประกอบพิธีให้แก่คู่บ่าวสาวในขั้นตอนต่อไป พร้อมทำการสอบสวนบันทึกข้อมูลและประวัติของบ่าวสาวก่อนเข้าพิธีแต่งงาน
จากนั้นจะมีการกรอกแบบสอบถามก่อนพิธี ซึ่งบ่าวสาวต้องกรอกคนละ 1 ชุด ระหว่างนั้นบาทหลวงหรือศิษยาภิบาลจะตั้งคำถามเพื่อสัมภาษณ์ไปเรื่อย ๆ โดยคำถามสำคัญก็คือ เคยแต่งงานมาก่อนหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจว่าการแต่งงานครั้งนี้ถูกต้องตามกฎของพระศาสนจักร ส่วนคำถามอื่น ๆ ก็เพื่อให้มั่นใจว่าทั้งคู่จะเข้าสู่การเป็นคริสตศาสนิกชนที่ดีและนำไปสู่การใช้ชีวิตคู่ ความเข้าใจกัน รู้จักร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน และการให้อภัยซึ่งกันและกันได้ในอนาคต

4. การซ้อมใหญ่
มักจะทำในคืนก่อนวันแต่งงาน โดยผู้ทำพิธี (บาทหลวงหรือศิษยภิบาล) บ่าวสาว และผู้ร่วมพิธีทุกคนจะต้องมาพร้อมกันที่โบสถ์ เพื่อซ้อมลำดับพิธีกรรมทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ สำหรับธรรมเนียมฝรั่ง พ่อแม่ฝ่ายชายเป็นเจ้าภาพอาหารค่ำหลังเสร็จจากการซ้อม (Rehearsal Dinner)

เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นขอจัดพิธี
1. ใบรับศีลล้างบาป (Baptismal Certificate) ที่ได้คัดลอกภายใน 6 เดือนก่อนวันงาน ซึ่งใครที่เคยเข้ารับศีลล้างบาป ต้องติดต่อไปยังวัดที่รับศีลล้างบาปนั้น ๆ เพื่อคัดลอกสำเนาใบรับศีล โดยในเอกสารนี้สามารถรู้ได้ว่าคน ๆ นั้นเคยแต่งงาน มาแล้วหรือไม่

2. ใบรับศีลกำลัง (Confirmation) และศีลมหาสนิท (Communion) หากผู้ใดได้รับศีลล้างบาปแล้ว ก็จะใช้เพียงแค่ใบรับศีลล้างบาปอย่างเดียว เพราะจะมีข้อมูลระบุวันรับศีลกำลังและศีลมหาสนิทรวมอยู่ในใบศีลล้างบาปแล้ว

3. กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้เป็นคาทอลิก จะต้องขอรับเอกสารว่าไม่เคยผ่านพิธีสมรส หรือเรียกว่าใบรับรองโสด โดยต้องกรอกข้อมูลและให้คุณพ่อหรือคุณแม่ลงนามรับรองด้วย

4. เตรียมพยานที่เป็นคาทอลิกไว้ 2 คน โดยทางโบสถ์จะขอชื่อ-นามสกุล และชื่อนักบุญเพื่อใส่ลงในใบ Registration คือ การจดทะเบียนกับทางศาสนจักร ซึ่งโบสถ์จะออกให้บ่าวสาวและพยานลงนามหลังพิธีแต่งงาน (ทางโบสถ์จะเตรียมใบนี้ให้เรียบร้อยก่อนวันงาน)

5. ประกาศนียบัตรการผ่านการอบรมคู่แต่งงาน จะได้เอกสารนี้หลังจากอบรมเสร็จสิ้น

บุคคลในพิธีแต่งงานของศาสนาคริสต์
1. ผู้ถือแหวน (Ring Bearer) มักเป็นเด็กชายอายุไม่เกิน 13 ปี ทำหน้าที่ถือพานแหวน ซึ่งอาจจะเป็นแหวนแต่งงานหรือแหวนที่ทำขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในพิธีก็ได้

 2. ผู้ถือดอกไม้ (Flower Girls) มักเป็นเด็กผู้หญิงอายุ 3-7 ปี มีหน้าที่โปรยกลีบดอกไม้หรือถือช่อดอกไม้เดินนำหน้าขบวนเจ้าสาวก่อนเข้าพิธี

3. ผู้จุดเทียน (Candle Lighters) หญิง 1 คน ชาย 1 คน ไม่จำกัดอายุแต่โดยมากนิยมเป็นเด็ก ซึ่งบ่าวสาวเลือกให้ทำหน้าที่จุดเทียนที่แท่นบูชาเพื่อเริ่มพิธี มีหน้าที่ทำให้เทียนส่องสว่างตลอดพิธี

4. ผู้ร่วมขบวนพิธี คนที่อยู่ในขบวนเจ้าสาว ประกอบด้วย เด็กโปรยดอกไม้ เพื่อนเจ้าสาว เด็กถือแหวนที่ใช้ประกอบพิธี และเจ้าสาวที่เดินคล้องแขนมาพร้อมกับบิดา

5. ผู้อ่านคัมภีร์ (Lector) มีหน้าที่อ่านคำสอนจากพระคัมภีร์ตามที่พระผู้ประกอบพิธีออกนาม จึงต้องมีการซักซ้อมกันก่อน หัวใจของพิธีการแต่งงานแบบชาวคริสต์อยู่ที่พิธีการช่วงการอ่านคัมภีร์ เพราะถ้าหากบ่าวสาวทำผิดต่อคำสัญญานี้ ก็จะไม่ได้รับพระพรจากองค์พระผู้เป็นเจ้า

6. ผู้เชิญแขก (Ushers) มีหน้าที่นำพ่อแม่บ่าวสาวเข้าสู่สถานที่ประกอบพิธีและนำแขกเข้านั่งประจำที่ โดยแขกฝ่ายเจ้าสาวจะนั่งทางด้านซ้าย ส่วนแขกเจ้าบ่าวจะนั่งด้านขวา

ขั้นตอนการทำพิธีแต่งงานแบบคริสต์
1. พิธีจุดเทียน
บริเวณด้านหน้าของโบสถ์ที่จะใช้ในการประกอบพิธีจะมีเชิงเทียน 2 แท่นตั้งอยู่ทางซ้ายและขวา เมื่อเริ่มเข้าสู่พิธี คนจุดเทียน (นิยมเป็นเด็ก) ที่ได้รับเลือกจะเดินถือเทียนเปล่าไปต่อไฟจากแท่นเทียนที่อยู่ด้านหน้าโบสถ์ จากนั้นจะนำเทียนที่อยู่ในมือไปจุดต่อยังเชิงเทียนด้านซ้ายและขวา หลังจากจุดเทียนเสร็จทั้งสองก็จะเดินออกมาจากแท่นพิธี

2. พิธีบรรเลงเพลง
เมื่อคนจุดเทียนทั้งสองเดินออกจากแท่นพิธีแล้ว วงดนตรีที่อยู่ในโบสถ์จะบรรเลงเพลงต้อนรับ โดยส่วนใหญ่จะเป็นนักเปียโนที่มาเล่นเพลงสำหรับพิธีโดยเฉพาะ

3. พิธีแต่งงานหรือการพาเจ้าสาวเข้าสู่โบสถ์
ขบวนเจ้าสาว ประกอบไปด้วยเด็กที่ถือแหวน เด็กโปรยดอกไม้ เพื่อนเจ้าสาว และเจ้าสาวที่คล้องแขนบิดาเดินเข้าสู่พิธีภายในโบสถ์ การที่เจ้าสาวเดินควงแขนมาพร้อมกับคุณพ่อไปตามทางเดินสู่พิธีนั้น ถือเป็นการมอบกรรมสิทธิ์ในการปกป้องทะนุถนอมดูแลเจ้าสาวต่อให้กับเจ้าบ่าว รวมทั้งเจ้าสาวเองก็มีหน้าที่ปรนนิบัติและให้ความเคารพนับถือสามีด้วยเช่นกัน ในจังหวะที่ขบวนเจ้าสาวเดินเข้าสู่พิธี แขกที่มาร่วมงานจะลุกขึ้นยืน เพื่อเป็นการให้เกียรติ

4. พิธีอ่านคัมภีร์คู่ชีวิต
เมื่อบิดาและเจ้าสาวเดินมาถึงบริเวณที่ประกอบพิธีก็จะส่งตัวเจ้าสาวให้กับเจ้าบ่าวที่ยื่นรออยู่หน้าแท่นพิธี จากนั้นบาทหลวงหรือศิษยาภิบาลผู้ประกอบพิธีจะอ่านข้อพระคัมภีร์เกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ เพื่อให้บ่าวสาวรับทราบถึงภาระหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อกันเมื่อก้าวเท้าสู่การใช้ชีวิตคู่ต่อไป

 5. พิธีกล่าวคำปฏิญาณ
ขั้นตอนนี้ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มากที่สุด ในสมัยก่อนนั้นบ่าวสาวจะกล่าวคำปฏิญาณตามผู้ประกอบพิธี แต่ในปัจจุบันผู้ประกอบพิธีเพียงแต่กล่าวนำให้เท่านั้น จากนั้นบ่าวสาวจะมีคำปฏิญาณเป็นของตนเอง ส่วนใหญ่จะร่างมาก่อนหรืออาจมากล่าวในงานเลยก็ได้ แต่ใจความสำคัญก็คือ การปฏิญาณและสัญญาว่าจะซื่อสัตย์ทั้งในยามสุขและยามทุกข์ ทั้งในเวลาป่วยและเวลาสบาย และจะรัก ยกย่องให้เกียรติไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่

6. พิธีแลกแหวนแต่งงาน
แหวนแต่งงานเป็นสัญลักษณ์ของความผูกพันที่ทั้งสองให้กันตลอดไป โดยมากนิยมใช้เป็นแหวนกลมเกลี้ยงปราศจากรอยต่อ เพื่อสื่อถึงความรักไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเจ้าบ่าวจะเป็นผู้สวมแหวนให้กับเจ้าสาวก่อน

 7. พิธีลงนาม
เมื่อผู้ประกอบพิธีประกาศให้ทั้งสองเป็นสามี-ภรรยากันแล้ว ก็จะเข้าสู่การลงนามในหนังสือสำคัญที่โบสถ์เป็นผู้ออกให้ (ไม่ใช่ทะเบียนสมรส) โดยบ่าวสาวจะเซ็นชื่อในใบรับรองเพื่อเป็นหลักฐานว่าทั้งคู่ได้แต่งงานกันที่โบสถ์แห่งนี้ และมีพยานเซ็นร่วมด้วย ถือว่าเป็นอันเสร็จพิธี ซึ่งพยานที่เซ็นรับรองส่วนใหญ่จะเป็นคู่สามี-ภรรยาที่รักกันและอยู่กันมานาน

8. พิธีจุดเทียนครอบครัว
พิธีการสุดท้ายที่กระทำภายในโบสถ์ โดยเริ่มจากเจ้าสาวจุดเทียนซ้ายและเจ้าบ่าวจุดเทียนขวา และมาจุดเทียนเล่มกลางพร้อมกัน เพื่อแสดงถึงการรวมเป็นครอบครัวเดียวกัน หลังจากนั้นผู้ประกอบพิธีจะอธิษฐานขอพรสำหรับครอบครัวใหม่ และประกาศการแต่งงานระหว่างคู่บ่าวสาวอย่างเป็นทางการ ถือเป็นการสิ้นสุดพิธีแต่งงานโดยสมบูรณ์

 9. พิธีโยนดอกไม้
หลังจากเสร็จสิ้นพิธีการต่าง ๆ ภายในโบสถ์แล้ว แขกที่มาร่วมงานจะออกมาด้านหน้าของโบสถ์โดยโปรยดอกไม้ตลอดทางเดินไปด้วย ซึ่งบ่าวสาวจะเดินตามหลังแขกออกมาเพื่อโยนดอกไม้ให้กับบรรดาเพื่อนเจ้าสาว ถือเป็นเคล็ดอย่างหนึ่ง
(ขอบคุณข้อมูล จาก happywedding.life)


 ขอให้ทุกท่านมีึวามสุขในชีวิตหลังแต่งงานนะคะ ขอพระเจ้าอวยพร
KC Love God


จะแต่งงานอายุเท่าไหร่ดีนะ ?



จะแต่งงานอายุเท่าไหร่ดี
  
     เรื่องนี้ไม่สามารถจะชี้ชัดลงไปได้ แต่โดยทั่วๆ ไปแล้ว เขาถือกันว่าให้บรรลุนิติภาวะเสียก่อน คือ 21 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป    เนื่องจากการแต่งงานเป็นครอบครัว เป็นสามี-ภรรยา และต่อไปจะเป็นบิดา-มารดานั้น ต้องมีความรับผิดชอบ มีภาระสำคัญหลายประการ ภาษาชาวบ้านจึงบอกว่าต้องเป็นผู้ใหญ่เสียก่อน หรือ ถ้าหากมีความจำเป็นต้องแต่งงานกันจริงๆ ก็จะต้องมีพ่อแม่ผู้ปกครองรับรองเสมอ

    ด้วยเหตุนี้พระศาสนจักรจึงไม่แนะนำให้แต่งงานในขณะที่ยังอยู่ในวัยรุ่นหรือยังขาดวุฒิภาวะของความรับผิดชอบ    เช่น คนปัญญาอ่อน หรือ คนสติไม่ดี ส่วนคนพิการทางร่างกายมีสติสัมปชัญญะดีอยู่นั้นสามารถแต่งงานได้ แม้จะไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ก็ตาม เพราะการแต่งงานมิใช่เรื่องของการมีเพศสัมพันธ์อย่างเดียว หากแต่มีเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ความรัก การดูแลกันและกัน เป็นต้น

    ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะรอให้อายุครบหรือเลยเบญจเพสไปก่อน คือเลย 25 ปีไปแล้ว     เพราะเรียนจบแล้ว มีงานการทำ มีรายได้เป็นของตนเองแล้ว เรียกว่าเป็นผู้ใหญ่พอสมควรแล้ว

    อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่ามีหนุ่ม-สาวจำนวนมากที่ยังคิดว่าไม่พร้อมที่จะแต่งงานด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ยังหาคู่ไม่เจอ ยังไม่มีเงิน ยังไม่แน่ใจขอดูกันไปก่อน ฯลฯ

    คนที่บอกว่า “ยังหาคู่ไม่เจอ” มักจะถูกย้อนถามต่อเสมอว่า “เลือกมากไปหรือเปล่า?” ความจริงก็น่าคิดเหมือนกันว่า จริงๆ แล้วเป็นอย่างเขาว่าคือเลือกมากหรือเปล่า ตั้งสเปกไว้สูงเกินไปหรือไม่ เช่น ต้องหล่อ สวย รวย ฉลาด เหล้าไม่ดื่ม บุหรี่ไม่สูบ เรียบร้อย ไม่เที่ยว ไม่ปากจัด สุภาพอ่อนหวาน เป็นแม่ศรีเรือน ทำอาหารได้ ฯลฯ    ถ้าเป็นอย่างนี้คิดว่าชาตินี้อย่าแต่งงานจะดีกว่า เพราะเราจะไม่มีทางหาบุคคลที่ตรงสเปกได้อย่างแน่นอน    เพราะคนเราจะต้องมีข้อบกพร่องอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ประเภทสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์คงไม่มี ไม่ต้องดูอื่นไกล หันมาดูตัวเองก็พอ เราจะพบเห็นข้อบกพร่องของเราอยู่เหมือนกัน

    ที่สุดอยากจะบอกว่า เมื่อเราพบคนที่ดีพอจะไปด้วยกันได้ พูดกันรู้เรื่องเข้าใจกันได้ ยอมรับข้อบกพร่องของกันและกันได้ ก็น่าจะตัดสินใจได้ ที่สำคัญต้องมีความรักเป็นพื้นฐานให้ได้เท่านั้นเอง

    มีเหมือนกันที่ถามว่าทำไมถึงเลือกแต่งงานกับคนนี้...บางคนตอบแบบทีเล่นทีจริงว่า เพราะคิดว่าเป็น “รถไฟขบวนสุดท้าย”    ทำนองว่า ถ้าไม่ขึ้นรถไฟก็เป็นอันว่าตกรถอย่างแน่นอน ซึ่งลึกๆ แล้ว คงไม่ใช่ สาเหตุที่แท้จริงก็คงมาจากความรักนั่นเอง

    ส่วนคนที่บอกว่ายังไม่มีเงิน ความหมายก็คือยังขาดปัจจัยที่ใช้ในการดำรงชีวิต เช่น  คิดว่าต้องมีบ้านช่องห้องหอเสียก่อน ต้องมีทุนรอนในการดำเนินชีวิต ต้องไม่มีหนี้สิน มีเงินเก็บ ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในอนาคตว่าจะไม่เดือดร้อน

    ความคิดเช่นนี้ต้องบอกว่าเป็นความคิดที่ถูกต้องดีน่าชม แต่อย่างไรก็ตามต้องดูความเป็นจริงด้วยเหมือนกันว่า จะสามารถเป็นอย่างที่คิดได้มากน้อยแค่ไหน... มีคู่แต่งงานหลายคู่และน่าจะส่วนมากด้วยซ้ำไปที่แต่งงานมีครอบครัวและค่อยๆ ช่วยกันก่อร่างสร้างความมั่นคงขึ้น ช่วยกันผ่อนบ้านผ่อนรถ ช่วยกันใช้หนี้สิน จนในที่สุดก็เกิดความมั่นคง ร่ำรวยขึ้น ด้วยการช่วยกันทำมาหากิน (แต่พอดี) หาเก็บ (ออม)    ซึ่งก่อให้เกิดความรักความเข้าใจร่วมทุกข์ร่วมสุข รักกันมากขึ้นด้วยซ้ำไป แต่ก็มิได้หมายความว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญ    เพียงแค่ไม่เป็นไร แต่งงานแล้วไปตายเอาดาบหน้า อย่างนี้ ในสมัยนี้น่ากลัวว่าจะตายจริงๆ     จึงคิดว่าอย่าน้อยก็น่าจะมีทุนสำรองสักนิดหน่อย และอย่าไปคิดจัดงานจนเกินตัว แต่งงานเสร็จต้องตามใช้หนี้เขาอีกเยอะแยะ

    อีกเหตุผลที่บอกว่า “ยังไม่แน่ใจขอดูกันไปก่อน” คือ พอมีเค้าแล้วว่าเนื้อคู่จะมา แต่ก็ยังสองจิตสองใจ พูดง่ายๆ คือ ยังไม่แน่ใจ ความคิดที่บอกว่าดูกันไปก่อน คบกันไปก่อน อย่างนี้ถือว่าถูกต้อง ศึกษานิสัยใจคอกันไปดีๆ แต่ต้องตกลงกันแต่แรก บอกกันให้รู้ว่าคบกันเป็นเพื่อนไปก่อน ให้เข้าใจกันทั้งสองฝ่าย อย่าไปให้คำมั่นสัญญาอะไรมากมาย จนกลายเป็นข้อผูกมัดให้ความหวังจนเกินไป เพราะจะทำให้ต้องเจ็บปวดทีหลัง หากไม่ได้แต่งงานกัน หรือ ที่เขาเรียกว่า “อกหักจนแหลกสลาย”

    ในประเด็นการดูใจกันนี้มิได้หมายถึง “การทดลองไปอยู่กินด้วยกัน” เพราะการไปอยู่กันด้วยกัน คือ การมีความสัมพันธ์เป็นสามี-ภรรยาก่อนแต่งงานนี้ พระศาสนจักรถือเป็นความผิดกระทำไม่ได้    การแต่งงานมันไม่ใช่การทำงานที่เขามีการ “ทดลองงาน” ถ้าไม่ผ่านการทดลองงานเขาก็จะไม่บรรจุให้ทำงาน การแต่งงานหรือชีวิตครอบครัวเป็นเรื่องความรัก ซึ่งอยู่เหนือธรรมชาติเป็นเรื่องที่พระเป็นเจ้าทรงโปรดให้เป็นไป

    อย่างไรก็ตามในเรื่องการแต่งงานนี้ เป็นสิทธิ์ของแต่ละคนว่าจะมีครอบครัวหรือไม่ บางคนเขาอาจจะเลือกอยู่เป็นโสดตลอดไปไม่แต่งงาน เขาเป็นคนดีของสังคมทำงานให้สังคมได้ อย่าไปมองว่า คนนี้แย่ขึ้นคาน    ไม่มีใครสนใจหรือผิดปกติ หลายคนชอบพูดว่า “ไม่แต่งงานก็ไปบวชซะ” ซึ่งรู้สึกว่าความคิดจะแคบไปหน่อย สำคัญ คือ จะโสด จะแต่งงาน ก็ขอให้เป็นคนดีมีศักดิ์ศรีเป็นผู้ทำให้สังคมดีขึ้น นั่นแหละสำคัญที่สุด
kamsonbkk.com


เมื่อถึงเวลาที่ใช่ เราเชื่อว่าพระเจ้าทรงมีแผนการดีๆไว้ให้ลูกของพระองค์เสมอ เราก็แค่ทำหน้าที่ของเราและดูแลตัวเองให้ดีที่สุดก็พอ และถึงแม้ว่าจะต้องโสดตลอดไป ก็ขอให้วางใจเถิดว่า เราจะเป็นคนโสดที่มีความสุขเช่นกัน (อย่าทำตัวเองให้ทุกข์นะคะ)
ขอพระเจ้าอวยพรทุกๆท่าน
KC Love God

พระวจนะของพระเจ้าสำหรับวันนี้ พระเจ้ายิ่งใหญ่กว่าพายุของคุณ

  พระวจนะของพระเจ้าสำหรับวันนี้ พระเจ้ายิ่งใหญ่กว่าพายุของคุณ อ่านมัทธิว 8:1 ถึง 11:1 ​    25 และพวกสาวกมาปลุกพระองค์ ทูลว่า “องค์พร...